วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ประเมินสถานภาพวิชาชีพทนายความไทย

ประเมินสถานภาพวิชาชีพทนายความไทย



            ยัง (Kimball Young) และ แม็ก (Raymond W.Mack) ได้ให้คำนิยามสถานภาพ (status) ว่าตำแหน่ง (position) ในโครงสร้างสังคม” (อานนท์, .13) ในฐานะที่ทนายความเป็นวิชาชีพหนึ่งจึงอาจกล่าวได้ว่าสถานภาพของวิชาชีพทนายความคือระดับของวิชาชีพในโครงสร้างตำแหน่งของวิชาชีพกับอาชีพต่าง ๆ ในสังคมไทย ซึ่งเมื่อเอาวิชาชีพทนายความและวิชาชีพอื่นหรืออาชีพอื่น ๆ มาเปรียบเทียบกันแล้ว ก็จะประเมินได้ว่าวิชาชีพทนายความอยู่ในตำแหน่งระดับใดสูงหรือต่ำในสังคม ตัวอย่างเช่นเมื่อเปรียบเทียบกับวิชาชีพทนายความทนายความในประเทศอเมริกาหรือประเทศแถบยุโรปจะได้รับการยอมรับยกย่องในสังคมสูงกว่าอาชีพอื่น ๆ ในสังคม เมื่อเปรียบเทียบกับวิชาชีพทนายความในสังคมไทยยังได้รับการยอมรับน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในแถบยุโรป อเมริกา หรือในประเทศพัฒนาแล้ว คำว่าทนายความคือพวกหัวหมอหรือคำพูดของนายกรัฐมนตรีไทยคนปัจจุบันที่เปรียบเทียบว่าทนายความคือพวกที่ช่วยคนหลังทำผิด คำพูดเหล่านี้เป็นตัวชี้วัด (Indicator) อย่างหนึ่ง ซึ่งชี้ได้ว่าวิชาชีพทนายความไทยอยู่ในระดับใดของสังคมไทย  เมื่อเปรียบเทียบกับวิชาชีพหรืออาชีพอื่น ๆ แต่การประเมินที่แท้จริงจะต้องมีมาตรการ อะไรคือมาตรการ และอะไรคือปัจจัยหรือตัวแปรที่กำหนดให้วิชาชีพทนายความว่าอยู่ในตำแหน่งใดในสังคมไทยมาตรการประเมิน  เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสถานภาพของวิชาชีพทนายความเป็นปกติ หรือกำลังตกต่ำเสื่อมถอยลง จึงต้องมีเครื่องวัดที่เข้าใจหัวใจหรืออุดมการณ์ของวิชาชีพ ซึ่งมีมาตรการประเมินสถานภาพของวิชาชีพทนายความอยู่ 2 ชั้น เป็นตัวเหตุ (causes) และตัวผล (effects) ต่อกัน  ดังนี้            
                  มาตรการชั้นที่ 1  :  ตัวผล ได้แก่สมาชิก และสมาชิกภาพ
                  มาตรการชั้นที่ 2  :  ตัวเหตุ ได้แก่รางวัล

                 มาตรการชั้นที่สมาชิกและสมาชิกภาพ ประกอบด้วย 3 มาตรการย่อย

                        
    1.1 การเข้าเป็นสมาชิกวิชาชีพทนายความ ดูจากคุณภาพและปริมาณของบุคคลที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของวิชาชีพทนายความ โดยเราต้องตรวจสอบว่ามีสาธารณชนมาสมัครเป็นทนายความ หรือขอมีใบอนุญาตทนายความมากน้อยเพียงใด คนเหล่านั้นมาจากชนชั้นใดในสังคม เช่น เป็นนักศึกษาที่เพิ่งจบนิติศาสตร์บัณฑิต หรือจบเนติบัณฑิตไทย แต่เป็นสมาชิกเพื่อรอสอบอัยการ และผู้พิพากษา หรือเป็นข้าราชการที่เกษียณอายุ แต่มีวุฒิ น.. จึงมาสมัครเพื่อขอมีใบอนุญาตทนายความ ชนชั้น และ เพศบ่งชี้ถึงอำนาจและความได้เปรียบในสังคม ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม วัยวุฒิ บ่งชี้ถึงกำลังความสามารถและประสบการณ์ของชีวิตความสามารถ คุณธรรม ศรัทธาในวิชาชีพทนายความ บ่งชี้ถึงคุณภาพของผู้ที่จะมาเป็นทนายความหากปัจจัยข้างต้นบ่งชี้ในทางบวก ก็แสดงว่าสถานภาพของวิชาชีพทนายความในสังคมอยู่ในขั้นปกติหรือดี หรือดีมาก หากบ่งชี้ในทางลบมากก็แสดงว่าผู้ที่จะมาเป็นทนายความไม่ได้ศรัทธาในวิชาชีพหรืออาจมีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งมาตรการนี้สามารถทำได้โดยเก็บข้อมูลจากเอกสารทะเบียนแล้วแยกออกเป็นหมวดหมู่ตามหัวข้อ ก็จะมองเห็นผลบวกหรือลบได้      
             
    1.2 การดำรงอยู่ในวิชาชีพทนายความ หมายความว่า สถานภาพที่สูงส่งมั่นคงของวิชาชีพที่มีระดับความยอมรับของสังคมสูง ย่อมเป็นสิ่งดึงดูดใจให้ทนายความประกอบอาชีพทนายความไปตลอดชีวิต ในทางกลับกันถ้าสถานภาพที่ตกต่ำของวิชาชีพย่อมเป็นเหตุให้ทนายความที่อุดมการณ์ไม่แกร่งกล้าละทิ้งวิชาชีพไปทำงานอื่น เช่น ไปสอบอัยการ ผู้พิพากษา ประกอบอาชีพธุรกิจ ดังนั้น การดำรงอยู่หรือทอดทิ้งวิชาชีพทนายความของสมาชิกสภาทนายความจึงเป็นมาตรการที่ใช้ประเมินสถานภาพของวิชาชีพทนายความไทยได้ ข้อมูลที่ควรหาเพื่อประกอบในการประเมินตรงนี้คือ
   1. มีสมาชิกสภาทนายความจำนวนเท่าใดที่ทิ้งวิชาชีพในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง จากข้อเท็จจริงสภาทนายความมีสมาชิกประมาณ 40,000 คนเศษ มีที่อยู่ที่ขึ้นทะเบียนในกรุงเทพมหานครประมาณ 20,000 คน อยู่ใน 75 จังหวัด รวมกันอีกประมาณ 20,000 คน แต่ในจำนวนทั้งหมดมีทนายความหลายคนที่มีใบอนุญาตตลอดชีพ แต่ไม่ได้ประกอบอาชีพทนายความแล้ว เช่น รับราชการเป็นอัยการ ตำรวจ ผู้พิพากษา นิติกรภาครัฐ หรือไปประกอบธุรกิจ เป็นต้น                                                                               
   2. คุณสมบัติของผู้ที่ทิ้งวิชาชีพทนายความเป็นอย่างไร (เพศ วัย สถานภาพทางสังคม ตำแหน่ง เงินเดือน ฯลฯ) และ3. เหตุผลที่คนเหล่านี้ทิ้งวิชาชีพทนายความคืออะไร หากเราได้ข้อมูลเหล่านี้มาก็สามารถวิเคราะห์หาสาเหตุและกำหนดแนวทางแก้ไข เพื่อทำให้สถานภาพวิชาชีพทนายความไทยดีขึ้นกว่าเดิมได้                        

     1.3 การอุทิศตัวแก่วิชาชีพ หมายถึง การที่ทนายความมีอิทธิบาทสี่ในวิชาชีพคือมี ฉันทะ (ความรับ ความพอใจ) วิริยะ (ความพากเพียร) จิตติ (ความเอาใจใส่) และวิมังสา (หมั่นไตร่ตรองหาเหตุผล) สมาชิกสภาทนายความที่อุทิศตนแก่วิชาชีพทนายความย่อมมีความภูมิใจและมีความสุขในการที่ได้เป็นทนายความ และประกอบอาชีพทนายความ

ข้อมูลที่ควรหาเพื่อประเมิน เช่น           

      1. ทนายความมีอาชีพอื่นทำด้วยหรือไม่ อาชีพใดเป็นอาชีพหลัก อาชีพใดเป็นอาชีพเสริม            
      2. ทนายความได้พัฒนาตัวเองอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะให้มีคุณสมบัติที่จะช่วยให้การปฏิบัติงานวิชาชีพทนายความดีขึ้น และดีขึ้นหรือไม่เพียงใด            
      3. ทนายความที่อุทิศตนในวิชาชีพมีจำนวนมากน้อยเพียงใด และมีคุณสมบัติ (เพศ อายุ สถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคม ความสามารถ ความศรัทธาในวิชาชีพ ความรักในเพื่อนมนุษย์) เป็นอย่างไร                  4. ทนายความที่อุทิศตนในวิชาชีพมีเหตุผลอะไร         

                 มาตรการชั้นที่ 2 รางวัล (ตัวเหตุ)  นอกจากใช้มาตรการชั้นที่ 1 แล้ว ยังมีมาตรการประเมินที่จะช่วยทำให้การระบุสถานะวิชาชีพทนายความในสังคมดูชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถใช้ รางวัลเป็นมาตรการประเมินแบ่งรางวัลออกได้เป็น 2 ประเภท 
           
            2.1 รางวัลภายนอก (extrinsic reward)
            2.2 รางวัลภายใน (intrinsic reward)


                        2.1 รางวัลภายนอก (extrinsic reward) คือประโยชน์สุข (utility) ที่ได้จากสังคมในฐานะที่เป็นสมาชิกของวิชาชีพ ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรม ซึ่งแบ่งแยกย่อยออกได้เป็น 5 อย่าง คือ   

                     
() รายได้ (income) คือ ตัวเงินที่ทำได้รายเดือน โดยเฉลี่ยจากการเรียกค่าปรึกษาวิชาชีพทนายความ หรือค่าว่าความ เป็นต้น ซึ่งเราสามารถเปรียบเทียบรายได้วิชาชีพทนายความ ในช่วงเวลาต่างกัน ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบด้วย                        

() สิ่งตอบแทนและสวัสดิการ (welfare) คือ รายได้เสริมของทนายความ ส่วนสวัสดิการคือผลประโยชน์ที่ได้เนื่องจากตำแหน่งในวิชาชีพทนายความ เช่น การเบิกค่ารักษาพยาบาล, สิทธิในการกู้เงินฉุกเฉิน ค่าเล่าเรียนบุตรทนายความ เบี้ยเลี้ยงเดินทาง เป็นต้นสิ่งเหล่านี้สามารถเป็นตัวชี้วัด (Indicator) ในการประเมินสถานภาพของวิชาชีพทนายความ                        

() เสรีภาพในการปฏิบัติงาน (freedom) หมายถึง สาธารณชนหรือสังคมย่อมไม่ก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติงานของสมาชิกวิชาชีพทนายความ เช่น ให้สภาทนายความตรวจสอบวิชาชีพทนายความด้วยกันเอง โดยมีคณะกรรมการมรรยาททนายความเป็นหน่วยงานตรวจสอบ ถ้าวิชาชีพใดถูกแทรกแซงมากถูกวิพากษ์วิจารณ์ควบคุมตรวจสอบมาก ย่อมหมายถึงสถานภาพของวิชาชีพนั้น ๆ ไม่แข็งแกร่งหรือกำลังตกต่ำลง                        

() เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือการยอมรับนับถือ (prestige) เหล่านี้ล้วนเป็นรางวัลทางสังคม วัฒนธรรมที่สาธารณชนให้แก่สมาชิกวิชาชีพ เช่น วิชาชีพทนายความจะได้รับความศรัทธา ไว้วางใจ และการยกย่องจากสังคมว่าเป็นปัญญาชน ผู้เชี่ยวชาญ กฎหมาย มีศักดิ์ศรี หากเห็นเกียรติยศ และคุณธรรม หรือผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าวัตถุเงินทอง ในการประเมินสถานภาพของวิชาชีพทนายความด้านสังคมและวัฒนธรรมนี้ ต้องวิเคราะห์หาเครื่องมือหรือมาตรการย่อย เช่น ปริมาณคนที่ใช้บริการวิชาชีพทนายความ เมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานทางกฎหมายหน่วยอื่น หรือความชื่นชมของสาธารชนที่แสดงออกด้วยกริยาอาการ คำพูด หรือปรากฎทางสื่อมวลชน เป็นต้น                        

() ความมั่นคง, เสถียรภาพ (security) แม้วิชาชีพอาจจะไม่ทำให้ใครร่ำรวย แต่หากผู้มีวิชาชีพทนายความยึดมั่นในคุณธรรม ความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพก็จะทำให้วิชาชีพทนายความมีความมั่นคงในชีวิตสูง เพราะบริการวิชาชีพมักจำเป็นแก่สังคม จึงสามารถใช้เป็นเครื่องยังชีพตลอดชีวิตได้                        


2.2 รางวัลภายใน (intrinsic rewards) คือประโยชน์สุขที่ผู้มีวิชาชีพทนายความได้จากตัวงานวิชาชีพเอง เป็นลักษณะนามธรรมมีองค์ประกอบ ดังต่อไปนี้                         

() สมรรถภาพ (Compentency) วิชาชีพทนายความต้องอาศัยความชำนาญพิเศษด้านกฎหมายในการปฏิบัติงาน จึงเป็นเครื่องช่วยพัฒนาความสามารถของทนายความตลอดช่วงเวลาที่ยังเรียนรู้ และปฏิบัติงานอยู่อาจเกิดจากมีกฎหมายใหม่ ๆ ที่ต้องใช้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดมา ทั้งงานทนายความต้องใช้ความสามารถหลายด้าน เช่น มีความรู้ ความเข้าใจ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การคิดเชิงบูรณาการ ทักษะ การคิด เหตุผล เป็นต้น                        

() จริยภาพ (disinterested) วิชาชีพทนายความต้องถูกคาดหวังให้อุทิศตนในการช่วยเหลือสังคมในแง่ของการส่งเสริม ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย ซึ่งนอกจากประกอบวิชาชีพทนายความแล้วต้องมีอุดมการณ์แห่งการเสียสละและบริการด้วย  จึงเป็นการพัฒนาจริยธรรมส่วนตนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต                        

() อิสรภาพ เพราะวิชาชีพทนายความให้อิสรภาพแก่ทนายความ 3 ระดับ คือ                        

(1) อิสรภาพที่จะค้นคว้าและประกาศสัจธรรมในวิชาชีพ ทั้งไม่จำกัดในการพัฒนาคุณภาพของตนเองให้เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญและมีอุดมการณ์                        
(2) อิสรภาพที่จะให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่บุคคลอื่นในระดับหนึ่ง โดยไม่เห็นแก่ได้หรือไม่เสียสละจนเกินไป                        
(3) มีอิสรภาพที่จะหลุดพ้นจากความโง่เขลา หลุดพ้นจากการเป็นทาสของกิเลสในระดับหนึ่ง ทั้งให้อิสรภาพในการดำรงชีวิตจากวิชาชีพทนายความ ทั้งช่วยในการดำรงชีพของทนายความเป็นอย่างมาก                        

() ความศรัทธา สมาชิกวิชาชีพทนายความถ้ามีความศรัทธาในอุดมการณ์ คือ มีความเสียสละ ศรัทธาในมนุษย์ ศรัทธาในตนเอง ทำให้ชีวิตมีความหมายและมีพลัง ย่อมชักนำให้เคารพคนอื่น ทั้งได้รับความยอมรับจากผู้อื่นในวิชาชีพทนายความด้วย                        

() มิตรภาพ การปฏิบัติงานวิชาชีพทนายความอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม โดยไม่เห็นแก่ได้ เท่ากับเป็นการหยิบยื่นมิตรภาพให้แก่คนอื่น ย่อมได้รับมิตรภาพที่ดีกลับคืนมาเช่นเดียวกัน มิตรภาพจึงเป็นรางวัลที่สร้างความประทับใจให้กับผู้มีวิชาชีพทนายความได้   
                 
(ปัจเจกภาพ หากผู้มีวิชาชีพทนายความได้ฝึกปรือตัวเอง ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ทั้งมีอุดมการณ์ ทำให้ผู้นั้นสามารถมองย้อนเห็นว่าตัวเองเป็นคนเช่นไร หากยอมรับและเข้าใจตนเองได้ย่อมสามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่เท่าที่ตนเองมีความสามารถ (self – actualization) ซึ่งเป็นการบรรลุความต้องการขั้นสูงสุดของมนุษย์ ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นที่พัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต                        

() สุนทรียภาพ คือภาวะแห่งความงามที่สามารถรับรู้ได้จากประสาทสัมผัสทั้งห้า สำหรับผู้มีวิชาชีพทนายความในฐานะที่เป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม อุดมการณ์ ย่อมมีโอกาสเข้าถึงสุนทรียภาพ ได้เหนือกว่าสาธารณชนทั่วไป และหากสถานภาพของวิชาชีพทนายความได้รับการยอมรับสูงในสังคม ย่อมทำให้ผู้มีวิชาชีพทนายความสามารถเข้าถึงสุนทรียรสของวรรณกรรม ดนตรี การแสดง ฯลฯ ในระดับสูงได้ดีกว่าเข้าถึงความงดงามของงานศิลปะต่าง ๆ ได้ดีกว่า เป็นต้น                        

() ความสุข ผู้มีวิชาชีพทนายความสามารถได้ความสุขระดับหนึ่งจากรายได้ สิ่งตอบแทน สวัสดิการ อำนาจ เกียรติยศ ชื่อเสียง ที่สังคมมอบให้แก่ทนายความสามารถมีความสุขในระดับสูงขึ้น จากการได้พัฒนาตนเองด้านความสามารถอันหลากหลาย และจริยธรรม ทั้งสามารถลิ้มรสความสุขจากการที่ได้ทราบว่าชีวิตทนายความของคนนั้นมีความหมาย มีพลังอันเป็นผลมาจากความศรัทธาในอุดมการณ์ของวิชาชีพ ศรัทธาในตนเอง และเพื่อนมนุษย์ เช่น ทนายความทองใบ  ทองเปานด์ ที่ได้รู้อย่างแท้จริงว่า รสชาติของความสุขจากมิตรภาพที่แท้ที่สังคมยอมรับและมอบให้เป็นอย่างไร

                        โดยสรุป สถานภาพของวิชาชีพทนายความ คือ ระดับของรางวัลทั้งภายนอกและภายในที่สมาชิกวิชาชีพทนายความได้จากการปฏิบัติงานนั้น ๆ โดยวัดจากรายได้ ค่าตอบแทน และสวัสดิการ อำนาจ หรือเสรีภาพในการปฏิบัติงาน และเกียรติยศ ชื่อเสียง หรือการยอมรับนับถือ ตลอดจนความมั่นคงจากการใช้บริการวิชาชีพนั้นได้จากสังคมในความเป็นจริง มาตรการที่ใช้ประเมินสถานภาพของวิชาชีพมักได้แก่ รายได้” (income) เพราะชัดเจนเป็นปรนัยและประยุกต์ใช้ง่าย แต่ก็เป็นมาตรการที่หยาบไม่ค่อยเหมาะสม ส่วนมาตรการที่เป็นรางวัลภายใน (intrinsic rewards) เป็นมาตรการที่สอดคล้องกับลักษณะวิชาชีพทนายความมาก แต่เป็นนามธรรมสูง วัดและประเมินได้ยากโครงสร้างสังคมไทยปัจจุบันมีการให้ค่ากับคนผู้มีความมั่งคั่งร่ำรวยอยู่ตรงบนสุดของโครงสร้างคุณค่า (value structure) จึงทำให้มีการใช้ รายได้” (income) เป็นมาตรการเดียวในการวัดสถานภาพจึงเป็นเรื่องที่สภาทนายความและผู้มีวิชาชีพทนายความ ตลอดจนสังคมต้องตระหนักเพื่อสร้างความเข้าใจ และสามารถพัฒนาวิชาชีพทนายความ จนสามารถใช้ทุกมาตรการวัดผลได้จนเป็นที่ยอมรับของสังคมในที่สุด




วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

นวัตกรรมวิชาชีพทนายความ

นวัตกรรมวิชาชีพทนายความ


          ทุกวันที่ 20 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น “วันทนายความ” ในปัจจุบันผู้มีวิชาชีพทนายความจะปกครองกันเอง โดยมีองค์กรสภาทนายความเป็นองค์กรวิชาชีพที่มีนายกสภาทนายความ และคณะกรรมการสภาทนายความมาจากการเลือกตั้งของทนายความทุกคน และมีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี มี “คณะกรรมการมรรยาททนายความ” เป็นผู้คอยควบคุมดูแลทนายความให้อยู่ในกรอบของจริยธรรม และมีมาตรการลงโทษสำหรับทนายความผู้ประพฤติผิดมรรยาททนายความ

         พ.ร.บ ทนายความ พ.ศ. 2528 เป็นฉบับล่าสุดที่ใช้กับผู้มีวิชาชีพทนายความ มาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 20 ปี และมีกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2528) ออกตามความใน พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 กำหนดให้ทนายความมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งมีได้ 2 กรณี

               1. ใบอนุญาตให้เป็นทนายความ 2 ปี (ต่อใบอนุญาตทุก 2 ปี)
               2. ใบอนุญาตให้เป็นทนายความตลอดชีพ

        เมื่อพิเคราะห์ดูจากจำนวนทนายความที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทนายความสิ้นสุด ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2547 ปรากฎว่ามีทนายความทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 46,272 คน เป็นผู้มีใบอนุญาต 2 ปี 13,974 คน และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความตลอดชีพจำนวน 32,298 คน การที่ทนายความมีใบอนุญาตตลอดชีพจำนวนมากเช่นนี้ จะทำให้ทนายความห่างเหิน ขาดการปฏิสัมพันธ์กับสภาทนายความ

       ในขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่า ผู้ที่เพิ่งเรียนจบนิติศาสตร์บัณฑิตมักจะฝึกทนายความก่อน หรือสอบขอรับใบอนุญาตทนายความก่อนที่จะไปสอบเป็นอัยการ ผู้พิพากษา หรือทำงานอื่น ๆ ที่มิใช่วิชาชีพทนายความ และส่วนมากมักจะชำระค่าธรรมเนียมครั้งเดียว เพื่อให้ได้ใบอนุญาตตลอดชีพ เพราะค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตลอดชีพของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับของต่างประเทศนับว่าถูกกว่ามาก ทำให้ในปัจจุบันสภาทนายความไม่สามารถทราบได้ว่าผู้ที่มีใบอนุญาตทนายความทั้งหมด จะประกอบวิชาชีพทนายความอย่างแท้จริงกี่คน เพราะมีผู้มีใบอนุญาตทนายความที่ได้ใบอนุญาตแล้ว แต่

          1. ต่อมาได้สอบบรรจุเป็นข้าราชการ, อัยการ, ตำรวจ, ผู้พิพากษา แต่มี ใบอนุญาตทนายความตลอดชีพ
          2. เป็นนิติกรตามหน่วยงานราชการ, เอกชน ทำหน้าที่ปรึกษากฎหมาย แต่ไม่ได้ว่าความในศาล หรืออยู่ประจำสำนักงานทนายความ
          3. ประกอบอาชีพอื่นที่ไม่ใช่ทนายความ เช่น ค้าขาย, ทำธุรกิจ, เกษตรกรรม
          4. เป็นอาจารย์สอนหนังสือ ตามสถาบันศึกษาต่าง ๆ ยกเว้นประกอบอาชีพทนายความ แต่สอนหนังสือเป็นงานพิเศษ

       บุคคลผู้มีใบอนุญาตดังกล่าวข้างต้น สภาทนายความตรวจสอบหากว่ายังประกอบวิชาชีพทนายความอยู่ในปัจจุบันจำนวนเท่าไร ทำให้การเติบโตของสภาทนายความมากด้วยปริมาณ แต่คุณภาพด้านวิชาชีพทนายความอาจน้อยกว่าปริมาณทนายความที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้องค์กรสภาทนายความขาดความเข้มแข็ง ขาดการรวมพลังของทนายความ ในยามวิกฤติที่สภาทนายความต้องลุกขึ้นมาแสดงบทบาทของตัวแทนวิชาชีพ ดังเช่น กรณีการต่อสู้เรื่องการพิจารณาคดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังทำให้สภาทนายความไม่สามารถดำเนินงานได้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายกล่าวคือ

          
1. ส่งเสริมการศึกษา และการประกอบวิชาชีพทนายความ ทำให้ความตั้งใจของสภาทนายความที่จะช่วยเหลือส่งเสริมการประกอบ วิชาชีพทนายความให้พัฒนาก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป ไม่สามารถทำได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้ง ๆ ที่ สภาทนายความได้พยายามทุ่มเทจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่ทนายความตลอดทั้งปีทุกภาค แต่เมื่อดูปริมาณของทนายความที่เข้าร่วมเปรียบเทียบกับผู้มีใบอนุญาตทนายความทั้งหมด นับว่าน้อยกว่ามาก

          2. ควบคุมมรรยาททนายความก็เช่นกัน ในขณะนี้ปริมาณทนายความผู้ประพฤติผิดมรรยาททนายความก็มีจำนวนมากขึ้น อาจเป็นเพราะเมื่อได้ใบอนุญาตทนายความตลอดชีพ และเป็นการได้มาง่ายและเร็ว ทำให้ขาดความรัก ขาดความตระหนักในมรรยาทแห่งวิชาชีพทนายความ

          3. ส่งเสริมความสามัคคี และผดุงเกียรติของสมาชิกสภาทนายความนั้น ในข้อนี้เมื่อทนายความได้ใบอนุญาตตลอดชีพแล้ว ก็มุ่งประกอบวิชาชีพทนายความของตนเอง ไม่มีความจำเป็นหรือข้อบังคับอันใดที่จะต้องไปปฏิสัมพันธ์กับสภาทนายความ ทำให้ขาดความรัก ขาดการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของสภาทนายความ ทำให้เสียดายที่ทนายความทั่วประเทศน่าจะมีความสามัคคีกลมเกลียว และช่วยกันผดุงเกียรติของทนายความให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันสภาทนายความมีบทบาทเป็นที่รู้จักของสังคมวงกว้าง และสามารถช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ และไม่ได้รับความเป็นธรรม

          จนสังคมยอมรับในองค์กร สภาทนายความว่าเป็นที่พึ่งทางกฎหมายของประชาชนทั่วประเทศได้ ทำให้วิชาชีพทนายความได้รับการยอมรับว่าเป็นวิชาชีพที่มีเกียรติ และศักดิ์ศรีที่สามารถช่วยเหลือมนุษย์ผู้ เดือดร้อนได้ แต่ถ้าผู้มีวิชาชีพทนายความตามปริมาณที่จดทะเบียนไว้กับสภาทนายความประมาณ 40,000 คน ได้ช่วยกันร่วมแรงร่วมใจกับสภาทนายความในการช่วยส่งเสริม ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย ก็จะทำให้สภาทนายความได้รับการยอมรับมากขึ้น ทั้งยอมรับในองค์กร และสมาชิกของสภาทนายความทุกคน

          แต่ในความเป็นจริงที่ดำรงอยู่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ถึงเวลาแล้วหรือยังในเวลาที่ล่วงเลยมาถึง 20 ปี ที่สภาทนายความและผู้มีวิชาชีพทนายความ และประกอบอาชีพทนายความ จะได้ช่วยกันสร้าง “นวัตกรรมวิชาชีพทนายความ” ให้สภาทนายความมีสมาชิก ผู้ประกอบวิชาชีพนายความเท่านั้น และสภาทนายความต้องมีบทบาทในการช่วยพัฒนา ความรู้ความสามารถของทนายความให้มีความรู้ทางด้านกฎหมาย และศาสตร์ด้านอื่นให้เท่ากันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งองค์กรวิชาชีพสภาทนายความอย่างประเทศอเมริกาก็ได้ทำไปแล้ว แม้กระทั่งองค์กรวิชาชีพพยาบาล คือ สภาการพยาบาลของไทยก็ได้เปลี่ยนแปลงแล้วเมื่อปี 2540 ดังนั้น ในปีนี้ “นวัตกรรมวิชาชีพทนายความ” ควรจะได้มีการช่วยกันทำให้เป็นจริง เนื่องในโอกาสที่สภาทนายความมีอายุครบ 20 ปี ทั้งขอเสนอเพื่อเป็นแนวทาง ดังนี้

          
1. ให้ยกเลิกการมีใบอนุญาตทนายความตลอดชีพ และเปลี่ยนจากการต่อ ใบอนุญาตทุก 2 ปี เป็นให้ทนายความทุกคนต้องต่อใบอนุญาตทุก 5 ปี ซึ่งคงสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ที่มีใบอนุญาตตลอดชีพอย่างแน่นอน จะทำให้สภาทนายความมีสมาชิกเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพทนายความเท่านั้น เพราะผู้ที่มีใบอนุญาตทนายความแล้วไปประกอบอาชีพอื่น ก็อาจจะไม่มาต่อใบอนุญาต เนื่องจากไม่ได้ประกอบอาชีพทนายความจริง ๆ ทั้งเป็น ข้อมูลสารสนเทศสำหรับสภาทนายความที่จะมีกิจกรรมมีปฎิสัมพันธ์กับสมาชิกได้เป็นปัจจุบัน
หลายคนอาจจะคิดว่าการให้ทนายความที่มีใบอนุญาตตลอดชีพต่อใบอนุญาตทุก 5 ปี เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพนั้น สามารถเทียบเคียงได้กับกรณีสภาการพยาบาล ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 28/2547 โดยคดีดังกล่าว พยาบาลผู้มีใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาการพยาบาลและผดุงครรภ์ ซึ่งใบอนุญาต ดังกล่าว ไม่ได้มีการกำหนดให้หมดอายุ ต่อมามี พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติให้ใบอนุญาตทุกประเภทมีอายุ 5 ปี โดยผู้ฟ้องโต้แย้งว่า เป็นการบัญญัติกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาแล้วเห็นว่า บทบัญญัติที่ให้ต่อใบอนุญาตทุก 5 ปี ไม่ได้กระทบกระเทือน หรือมีผลต่อการปฎิบัติงานของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตที่ได้กระทำไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540 มีผลบังคับใช้ นอกจากนั้นการกำหนดอายุ และการต่อใบอนุญาตยังถือว่าเป็นประโยชน์กับประชาชนที่ใช้บริการ จากผู้ประกอบวิชาชีพที่ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการ คุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชน และการกำหนดอายุใบอนุญาตไม่ได้หมายความว่า เมื่อครบกำหนดใบอนุญาตแล้ว ผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวจะไม่มีสิทธิที่จะประกอบวิชาชีพของตนเองได้อีกต่อไป แต่หากยังมีสิทธิในการประกอบวิชาชีพดังกล่าวต่อไปได้ เมื่อได้ต่ออายุ ใบอนุญาตตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งไม่ได้เป็นการกำจัดเสรีภาพในการประกอบ วิชาชีพแต่อย่างใด แต่การที่ได้รับใบอนุญาต โดยไม่มีการกำหนดอายุใบอนุญาตจะทำให้ผู้ได้รับใบอนุญาตไม่มีการพัฒนาความรู้ความสามารถ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งกลับจะทำให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้ใช้บริการ ดังนั้น มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2540 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่ประการใด
สำหรับวิชาชีพทนายความหากจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ทำได้ง่ายกว่า เพราะบัญญัติไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 2 พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ยุติธรรม แต่ก็ควรเสนอโดยสภาทนายความที่ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมากในการดำเนินการ

          2. การต่อใบอนุญาตทนายความ ใช้หลักเกณฑ์การให้คะแนนนับเป็น หน่วยกิต ผู้ที่จะต่ออายุใบอนุญาตจะต้องเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถทางวิชาชีพ หรือ วิชาการ หรือการมีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากร หรือพัฒนาวิชาชีพกระทำได้โดยการเข้าฟังบรรยายอภิปรายสัมมนา หรือเข้าร่วมกิจกรรมฟื้นฟูวิชาการอื่น ๆ รวมทั้งการเข้ารับการศึกษาอบรมในหลักสูตรทางกฎหมาย โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะต้องลงทะเบียน และร่วมกิจกรรมตลอดระยะเวลาที่กำหนด จึงจะได้รับหน่วยคะแนน โดยจะต้องมีหลักฐานที่ผ่านการประชุมอบรมที่ออกให้โดยผู้จัดการประชุมอบรม และหลักสูตร, จำนวนหน่วยคะแนน หรือหน่วยกิต จะต้องได้รับการรับรองจากสภาทนายความ หรือศูนย์การศึกษากฎหมายที่สภาทนายความ จัดตั้งขึ้น

          3. การต่อใบอนุญาต หากทนายความไม่สามารถไปอบรมสัมมนา ซึ่งแต่ละครั้งนับจำนวนชั่วโมง วันที่เข้าร่วมเทียบเป็นคะแนนหรือหน่วยกิตก็สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น คอมพิวเตอร์ หรือการประเมิน และทบทวนความรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อสำเร็จรูป ต้องมีแบบทดสอบ เช่น 5 ข้อ ต่อ 1 คะแนน เป็นต้น หมายความว่าผู้ที่จะ ต่อใบอนุญาตเลือกที่จะเก็บคะแนนให้ครบจากการเข้าร่วมสัมมนา อบรม ตลอด 5 ปี หรือหากได้คะแนนไม่ครบตามเกณฑ์ก็สามารถขอแบบทดสอบจากสภาทนายความ เมื่อได้ครบคะแนนที่วางไว้ จึงเอาคะแนนหรือหน่วยกิตนั้น ไปต่อใบอนุญาตทนายความในปีที่ 5

          4. การต่อใบอนุญาตสามารถทำได้จากการมีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากรหรือพัฒนาวิชาชีพ เช่น ทนายความได้แต่งตำราเขียนบทความทางวิชาการ, การเป็นวิทยากร, ผู้อภิปรายร่วมในการประชุมวิชาการ/สัมมนา/อบรม
หากมีหลักเกณฑ์ข้างต้นก็จะมีหน่วยงานสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เสนอหลักสูตร/โครงการ ให้สภาทนายความรับรองหน่วยคะแนน เพื่อจะได้มีทนายความที่ประสงค์จะต่อใบอนุญาตเข้าอบรมสัมมนา เพื่อเก็บคะแนนไว้ต่อใบอนุญาต ส่วนของสภาทนายความก็ต้องจัดตั้งศูนย์การศึกษากฎหมายที่มีหน้าที่ตรวจสอบ และรับรองหลักสูตร/โครงการของ กิจกรรมที่เสนอขอให้ทนายความผู้เข้าร่วมสามารถเก็บคะแนนได้ มีหน้าที่กำหนดหน่วยคะแนนเทียบเคียงได้กับบทบาทภารกิจหน้าที่ของศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง สาขาพยาบาลศาสตร์ของสภาการพยาบาลแห่งประเทศไทย


ผู้รับบริการกับการต่อใบอนุญาต

          นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กรรมการผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า การต่ออายุใบอนุญาตมีประโยชน์กับผู้บริโภค เพราะความก้าวหน้าทาง วิชาการมีอยู่ตลอดเวลาในท่ามกลางยุคข้อมูลข่าวสาร เพราะฉะนั้นการต่อใบอนุญาตประกอบ วิชาชีพ จะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับภาวะของยุคสมัยปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นสภาวิชาชีพก็จะถูกตั้งคำถาม เรื่องการต่ออายุใบอนุญาตของผู้ประกอบวิชาชีพว่าเป็นเพียงกลไก หรือเครื่องมือที่สภาวิชาชีพจะเก็บเงินจากผู้ประกอบวิชาชีพ แต่จะทำอย่างไรให้กลไกนี้เป็นเครื่องมือในการสร้างหลักประกันให้กับผู้ไปใช้บริการ ว่ากันจริง ๆ แล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคนมีความรู้เป็นปัจจุบัน รู้เท่าทันกับภาวะการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนไป จึงเป็นหัวใจที่จะทำให้การต่อ ใบอนุญาตเป็นประโยชน์นอกจากนี้ วิชาชีพต้องมีความเป็นสากล สถานการณ์ในนานาประเทศก็ Re-licensing กันทั้งนั้นไม่มี Permanent licensing ไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้นความเป็นสากลนี้มีความจำเป็น และถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง

          ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดนับว่า การครบรอบ 20 ปี ของสภาทนายความเป็นโอกาสดีที่คณะกรรมการบริหารสภาทนายความ และหรือสภานายกพิเศษสภาทนายความ จะต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) โดยขอความร่วมมือจากผู้มีวิชาชีพทนายความทุกคน ที่จะต้องถือเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตนเอง เพราะการต่อใบอนุญาต ดังกล่าวข้างต้น เป็นการทำให้ทนายความได้พัฒนาตัวเองเรียนรู้กับการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการใหม่ ๆ ตลอดเวลา รวมทั้งความรู้ใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่จะต้องก้าวไปพร้อมกับความตื่นตัวทางสังคมใหม่ ๆ หากมีการเปลี่ยนได้ดังกล่าว เช่น นานาอารยประเทศทำกันอยู่แล้วจึงจะเรียกได้ว่ามี “นวัตกรรมวิชาชีพทนายความไทย”

วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2559

การส่งต่อทางวิชาชีพทนายความ

การส่งต่อทางวิชาชีพทนายความ




          ทนายความที่รับว่าความให้กับตัวความ มักจะเริ่มต้นโดยการติดต่อพบปะพูดคุยรายละเอียดคดีเกี่ยวกับตัวความ เช่น เป็นคดีอะไร ประเภทไหน มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีอย่างไร ซึ่งตัวความจะต้องเล่ารายละเอียดให้กับทนายความฟังตามที่ทนายความต้องการเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินคดีในศาล ทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องตกลงกันในเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี แล้วแต่วิธีการเรียกของทนายความแต่ละคน รวมทั้งค่าตอบแทนวิชาชีพว่าคิดกันในอัตราเท่าไร จะเบิกจ่ายกันอย่างไรบ้าง และพูดคุยถึงพยานหลักฐานที่จะนำมาใช้ประกอบการดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคล พยานเอกสารหรือพยานวัตถุก็ตาม

          เมื่อตกลงกันได้แล้ว ตัวความก็กลายเป็นผู้ว่าจ้าง ส่วนทนายความก็เป็นผู้รับจ้างไป ถึงขั้นตอนนี้ทนายความต้องคำนึงถึงมรรยาทต่อตัวความ ซึ่งปรากฎอยู่ในข้อบังคับสภาทนายความวาด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 หมวด 3 ตั้งแต่ข้อ 9- ข้อ 15 เช่น ต้องไม่เปิดเผยความลับลูกความ ไม่ยุยงส่งเสริมให้มีการฟ้องร้องคดี ในกรณีอันหามูลมิได้ ทั้งต้องไม่กระทำการใด ๆ ในลักษณะอันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ

          แต่ในความเป็นจริงมีหลายคดีที่ขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณา ทนายความกับตัวความมีความเห็นทางคดีไม่ตรงกันหรือมีความขัดแย้งกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายหรือแนวทางในการต่อสู้คดี หรืออาจจะเป็นเพราะตัวความไม่พอใจในการดำเนินคดีของทนายความ ทางแก้ก็คือ
          1. ตัวความยื่นคำร้องต่อศาลแจ้งให้ศาลทราบว่า ไม่ประสงค์จะให้ทนายความคนนั้นเป็นทนายความให้ต่อไป เป็นคำร้องขอถอนทนายความ ซึ่งเป็นเอกสิทธิของตัวความที่จะทำได้ แต่ต้องมิใช่มีเจตนาเพื่อประวิงคดีให้ช้า หรือเพื่อให้มีการเลื่อนคดีออกไป ถ้าตัวความมีเจตนาดังกล่าวอาจถูกข้อหาละเมิดอำนาจศาล

          2. ทนายความผู้รับจ้าง ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความต่อศาล ซึ่งในกรณีนี้หากตัวความยังไม่ได้รับรู้ รับทราบ หรือให้ความยินยอมศาลมักจะยังไม่สั่งอนุญาตให้ถอนต้องรอให้ตัวความยินยอมก่อน โดยตัวความอาจแถลงต่อศาลว่ารับทราบ และไม่คัดค้าน หรือทำเป็นคำแถลงยื่นต่อศาลก็ได้ แต่ก็เช่นเดียวกันการยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของทนายความต้องมิใช่เจตนาประวิงคดี หรือเพื่อเลื่อนคดีซึ่งศาลมักจะพิจารณาถอนตัวในวันไหน ขั้นตอนใด ถ้าถอนตัวในวันสืบพยานต่อเนื่อง ศาลไม่อาจอนุญาตได้ เพราะอาจถูกมองว่าเป็นการประวิงคดี

          แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีความเห็นแตกต่างกันหลายฝ่าย บ้างก็ว่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว เมื่อทนายความกับตัวความขัดแย้ง หรือมีความเห็นไม่ตรงกันแล้ว การที่ศาลไม่อนุญาตอาจทำให้ตัวความเสียผลประโยชน์ทางคดีก็ได้ เพราะทนายความมีหน้าที่ต้องว่าความให้ตัวความเมื่อความเห็นไม่ตรงกัน ทำให้เกิดผลกระทบในทางลบแก่รูปคดีแน่นอน ดังนั้น ศาลควรจะมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนตัวได้ เมื่ออยู่ระหว่างหรือใกล้วันสืบพยานก็ตามที

          แต่บางความเห็นโดยเฉพาะทางศาล อาจจะมีความเห็นว่าการถอนและขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของตัวความทั้ง ๆ ที่มีการนัดพิจารณาคดีไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการสืบพยานโจทก์ พยานจำเลย หากมีการถอนตัวใกล้วันนัดสืบพยาน หรือในระหว่างสืบพยาน ทำให้กระบวนพิจารณาล่าช้า จึงไม่ควรอนุญาตให้ถอนตัวจากการเป็นทนายความ เพราะทำให้เสียวันนัด โดยเฉพาะการพิจารณาคดีต่อเนื่อง ทำให้คดีล่าช้าออกไปเป็นหลายเดือน หรือต้องต่อคิวนัดใหม่เป็นปีก็เป็นได้ และถ้าไม่อนุญาตให้ถอนตัวทนายความก็จะต้องทำหน้าที่ต่อไปอย่างเต็มที่ มิฉะนั้นจะเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความได้

          ในกรณีที่จะกล่าวต่อไปนี้ หากในระหว่างการพิจารณาคดีตัวความ ตกลงถอนทนายความและทนายความก็ยินยอมให้ถอนโดยทำคำร้องยื่นต่อศาล ศาลอนุญาตให้ถอนได้ เป็นที่น่าพิจารณาว่า เมื่อศาลอนุญาตแล้วหน้าที่ของทนายความคนเดิมที่มีต่อตัวความหรือต่อศาลสิ้นสุดแล้วหรือยัง หลาย ๆ คดีเกี่ยวกับมรรยาททนายความที่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรรยาท เพราะทนายความประพฤติผิดมรรยาททนายความข้อ 12 คือ กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้ อาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ

          (1) จงใจขาดนัดหรือทอดทิ้งคดี

          (2) จงใจละเว้นหน้าที่ ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตน หรือปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบข้อเท็จจริงในคดีที่สู่การพิจารณาคดีของคณะกรรมการมรรยาทความแล้วมีการวินิจฉัยว่า กระทำการอันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความก็เช่นกัน

                    - ทนายความไม่ติดตามผลคดี ปล่อยให้พ้นระยะเวลาอุทธรณ์ ทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ (คำสั่งที่ 15/2533)
                    - ทนายความไม่ไปศาลในวันฟังประเด็นกลับ ทำให้ศาลถือว่าทนายความไม่มีพยานมาสืบและพิพากษาให้ตัวความแพ้คดี

          เมื่อพิจารณาตามแนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการมรรยาททนายความแล้วก็พิจารณาได้ว่า แม้ทนายความไม่ได้ดำเนินการให้กับลูกความจนเกิดความเสียหาย ไม่ว่าเพราะทนายความเกิดหลงลืมหรือเกิดจากความประมาทเลินเล่อ หรือไม่ตั้งใจ หรืvเพราะไม่ทราบกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นการจงใจละเว้นหน้าที่ หรือจงใจขาดนัด หรือฟ้องคดีแล้ว และตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนตัวจากการเป็นทนายความแม้จะมีการบอกเลิกการเป็นทนายความแล้ว ทนายความก็ยังต้องจัดการอันสมควรทุกอย่างเพื่อจะปกปักรักษาประโยชน์ของลูกความไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 828 ไม่ใช่เห็นแก่อามิสสินจ้างเป็นสำคัญ

          ปัจจุบันนับเป็นประโยชน์กับวงการวิชาชีพทนายความที่แนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการมรรยาททนายความได้วางแนวไว้กว้างขึ้นกว่าเดิม กล่าวคือ แม้ว่าศาลจะอนุญาตให้ทนายความถอนตัวจากการเป็นทนายความแล้ว โดยตัวความรู้เห็นและยินยอมถือว่าสิ้นสุดในการทำหน้าที่ของทนายความคนเดิมแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ลูกความยังไม่สามารถหาทนายความคนใหม่มาแทนที่ได้ ด้วยจิตสำนึกในวิชาชีพทนายความ ทนายความคนเดิมก็ยังต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของลูกความจนกว่าตัวความจะหาทนายความคนใหม่ ที่มารับช่วงต่อในการทำคดีได้ ทั้งต้องให้คำแนะนำแก่ลูกความในการหาทนายความ โดยแจ้งให้ตัวความทราบว่าภารกิจของทนายความคนใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาขั้นตอนใดบ้าง ไม่ใช่เมื่อศาลอนุญาตให้ถอนตัวแล้ว ทนายความก็ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับตัวความอีกเลย ไม่ว่าตัวความจะหาทนายความคนใหม่ที่ดีได้หรือไม่ก็ตาม เพราะเปรียบเสมือนทนายความเป็นคนแจวเรือจ้างส่งตัวความข้ามแม่น้ำจากริมฝั่งหนึ่งไปยังริมฝั่งหนึ่ง เมื่อทนายความยกเลิกการพายเรือกลางคัน แม้ว่าตัวความจะยินยอมแล้วก็ตาม ทนายความก็ต้องมีหน้าที่แนะนำช่วยเหลือจนกว่าตัวความจะหาคนพายหรือคนใหม่มาได้

          ในขณะเดียวกัน แม้จะมีการเลิกจ้างทนายความคนเดิมแล้วก็ตาม ในแง่ของตัวบุคคลภารกิจในหน้าที่สิ้นสุดแล้ว แต่ “การส่งต่อทางวิชาชีพ” ยังต้องทำต่อไปกล่าวคือ ทนายความคนเดิมยังมีหน้าที่ต้องสรุปประเด็นในคดีที่ได้ทำมาแล้ว รวมทั้งแนวทางการดำเนินคดีพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความร่วมมือกับทนายความคนใหม่ไม่ว่าจะเป็นด้านพยานเอกสาร พยานวัตถุ หรือพยานบุคคลในรูปคดีก็ตาม เพราะ “วิชาชีพทนายความ” ได้ช่วยตัวความมาตั้งแต่ต้น แม้จะเปลี่ยนทนายความแล้วก็ตาม แต่การต้องการความช่วยเหลือของตัวความจาก “วิชาชีพทนายความ” ยังคงมีอยู่ต่อไป ภารกิจทางกฎหมายสิ้นสุด แต่ภารกิจในการส่งต่อทางวิชาชีพยังไม่สิ้นสุด ทนายความคนเดิมจึงยังต้องทำหน้าที่ส่งต่อวิชาชีพทนายความให้กับทนายความคนใหม่ทำคดีต่อไป โดยไม่ต้องให้ทนายความคนใหม่มารับช่วงต่อโดยนับหนึ่งใหม่ในการดำเนินคดี ซึ่งแนวทางการวินิจฉัยของคณะกรรมการมรรยาทในปัจจุบัน ได้วางแนวไว้กว้างว่าแม้จะได้มีการถอนตัวไปแล้วโดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่การส่งต่อทางวิชาชีพทนายความเป็นหน้าที่ตามมรรยาททนายความที่ทนายความคนเดิมจะต้องรักษาผลประโยชน์ของลูกความ มิฉะนั้นแล้วทนายความคนเดิมอาจมีความผิดในฐานะไม่รักษาผลประโยชน์ของลูกความ และเป็นการจงใจละเว้นหน้าที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดี หน้าที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตนตามข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความข้อ 12 ได้

          ดังนั้น หากทนายความทุกคนตระหนักรู้และเข้าใจว่า “การส่งต่อทางวิชาชีพทนายความ” เป็นภารกิจทางวิชาชีพที่สำคัญย่อมทำให้วิชาชีพทนายความเป็นที่สร้างความอุ่นใจให้แก่ตัวความและประชาชนตลอดจนสังคมในที่สุด









วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559

การก้าวทันโลกแห่งวิชาการวิชาชีพทนายความ

การก้าวทันโลกแห่งวิชาการวิชาชีพทนายความ

โดย... ดร. สฤษดิ์  ธัญกิจจานุกิจ


          ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็วทั้งระดับชาติ และระดับโลกกระทบต่อการปฏิบัติวิชาชีพของทุก ๆ สาขาคือ มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทั้งเชิงแนวคิด ทฤษฎีและการปฏิบัติ โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมของไทยที่เป็นหน่วยงานราชการ เช่น ศาล อัยการ ราชทัณฑ์ ตำรวจ ต่างก็พัฒนาการก้าวหน้าทั้งการวิจัยพัฒนาบุคลากร รวมทั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆแต่สภาทนายความซึ่งเป็นองค์กรอิสระในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพทนายความมีความพร้อมหรือยังที่จะก้าวทันโลกในยุคโลกาภิวัฒน์สำหรับสภาทนายความและผู้มีวิชาชีพทนายความนั้นถือว่าเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนและวิกฤตทีเดียวที่จะต้องก้าวทันโลกในยุคโลกาภิวัฒน์

บทความนี้เป็นเพียงแนวทางบางส่วนที่จะกระตุ้นเพื่อนร่วมวิชาชีพทนายความให้ตระหนักถึง “ความก้าวทันโลกแห่งวิชาการวิชาชีพทนายความ” 

โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

1. การศึกษาต่อระดับสูง ไม่ว่าจะสำเร็จปริญญาตรี ปริญญาโท หรือเนติบัณฑิต หากทนายความเพียงปฏิบัติงานประจำวันให้ลุล่วงไปตามปกติย่อมยืนยันไม่ได้ว่าได้ก้าวทันโลกแล้วเพราะพฤติกรรมที่เป็นไปคือการที่วนเวียนอยู่กับความรู้ แนวคิด และทฤษฎีที่ได้ศึกษามาในสถานศึกษาเท่านั้นทนายความสามารถศึกษาต่อในสถาบันวิชาชีพกฎหมายชั้นสูงของสภาทนายความ หรือระดับปริญญาโทในสาขาที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวพันกับการประกอบวิชาชีพทนายความ

2. การเข้ารับการศึกษาต่อเนื่อง สำหรับการอบรมระยะสั้นซึ่งทางสภาทนายความได้จัดเป็นระยะสั้นในสาขาเฉพาะต่าง ๆรวมทั้งการเข้าอบรมด้านกฎหมายหรือศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การบริหารจากหน่วยงานกระบวนยุติธรรม หรือองค์กรของรัฐอื่น ๆ หรือจากการจัดเป็นครั้งคราวของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

3. การศึกษาวิจัย เป็นอีกแนวทางที่ส่งเสริมความเป็นวิชาการซึ่งมีน้อยมากสำหรับผู้มีวิชาชีพทนายความเพราะหลักสูตรนิติศาสตร์ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการวิจัยแต่ผู้ประกอบอาชีพทนายความสามารถทำวิจัยเชิงเอกสารโดยค้นคว้าวิเคราะห์จากตำรากฎหมาย คำพิพากษาฎีกาและบทความของนักวิชาการแล้วสังเคราะห์เป็นความรู้ใหม่ หรือแนวคิดใหม่ก็เป็นการสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการได้เช่นกัน

4. การอ่านวารสารวิชาการ การติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการของวิชาชีพทนายความด้วยการอ่านนั้นอาจทำได้หลายวิธี เช่น อ่านจากตำรา ศึกษาจากเว็บไซด์ ทางอินเตอร์เน็ตทั้งของไทยและต่างประเทศหรืออ่านจากบทความที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพทางกฎหมายแม้จะเป็นของหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรมก็ตามรวมทั้งวารสารของสภาทนายความด้วย หรือวารสารอื่นใดที่เกี่ยวกับกฎหมาย

ประเด็นการอ่านวารสารวิชาการจะเป็นปัญหาสำหรับผู้ที่ประกอบวิชาชีพทนายความหลายปีแล้วเพราะอาจไม่มีเวลาหรือถือว่าประสบการณ์การเป็นทนายความจะทำให้ก้าวทันโลกได้ดีกว่าการศึกษาทางทฤษฎีด้วย ทนายความทุกคนควรจะ “บริหารเวลา” เพื่อให้เวลากับตนเอง ในการอ่านบทความทางวิชาการจากเอกสารหรือทางอินเตอร์เน็ตเป็นประจำทุกสัปดาห์ ๆ ละ 1-2 ชั่วโมงจะเป็นการพัฒนาตนเองให้ก้าวทันโลกยุคไร้พรมแดนและทันโลกแห่งวิชาการของวิชาชีพทนายความ

5. การเสวนาด้วยกันผู้ประกอบวิชาชีพทนายความควรจะได้ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหารือประเด็นกฎหมาย ระหว่างทนายความหรือระหว่างนักกฎหมายด้วยกันด้วยเหตุผลทั้งในเชิงคดีความและตีความกฎหมาย ถือว่าเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกันโดยฝึกปฏิบัติให้เป็นประจำทุกสัปดาห์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

ถึงเวลาอันวิกฤตยิ่งของวิชาชีพทนายความที่ทุกคนควรได้ตระหนักถึงบทบาทของตนต่อการสร้างคุณค่าของตนเองและต่อวิชาชีพทนายความที่สังคมให้การยอมรับในบทการช่วยเหลือสังคมด้านกฎหมายความฝันนี้จะเป็นจริงได้ขึ้นอยู่กับความสำนึกของผู้มีวิชาชีพทนายความทุกคนต่อการลงทุนทางวิชาการการลงทุนเพื่อพัฒนาตนเองและการลงทุนเพื่อศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพทนายความ


วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

การช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนของสภาทนายความ

การช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนของสภาทนายความ
โดย... ดร. สฤษดิ์  ธัญกิจจานุกิจ 



ตาม พ.ร.บ สภาทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 7(5) ระบุว่าสภาทนายความมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมช่วยเหลือแนะนำเผยแพร่   และให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย  สภาทนายความเองก็ได้ออกข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย พ.ศ.2529  โดยมีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย  มีสำนักงานคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายทั้งส่วนกลาง และภูมิภาคทั้ง 9  ภาค โดยให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนของแต่ละภูมิภาคแต่ละจังหวัด  ทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนกฎหมายในเขตจังหวัดหรือเขตศาลจังหวัดนั้น ๆ

วิธีดำเนินการทางคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจัดให้มีทนายความอาสาสมัคร   เพื่อทำหน้าที่ให้ความช่วยแหลือประชาชนทางกฎหมายตามที่ได้รับการร้องขอหรือตามที่ได้รับมอบหมายจากสภาทนายความโดยมีการเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้ตามระเบียบว่าด้วการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน

ในข้อบังคับยังระบุไว้ด้วยว่าประชาชนผู้ประสงค์จะขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสภาทนายความจะต้องมาติดต่อด้วยตัวเอง  หรือยื่นคำร้องเป็นหนังสือที่แสดงความจำนงที่จะให้สภาทนายความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายกำหนด  โดยประชาชนผู้ได้รับความช่วยเหลือไม่ต้องเสียค่าทนายความ  หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ให้แก่ทนายความผู้ดำเนินการทั้งสิ้น

นอกจากความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายแล้ว ข้อบังคับของสภาทนายความได้กำหนดให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนของกฎหมายทั้งส่วนกลาง  และส่วนภูมิภาคจะดำเนินการให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย  เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจกฎหมายเบื้องต้น และกฎหมายอื่นๆ เท่าที่เห็นเป็นการสมควรได้

จากพระราชบัญญัติทนายความและข้อบังคับข้างต้นจะเห็นได้ว่า  มีกฎหมายระเบียบคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายมีวิธีดำเนินการทั้งฝ่ายวิชาชีพทนายความ และวิธีดำเนินการของประชาชนที่จะมาขอรับความช่วยเหลือไว้แล้ว


ขอบคุณภาพจาก http://www.photo-dictionary.com/phrase/2440/auction-hammer.html