วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

นวัตกรรมวิชาชีพทนายความ

นวัตกรรมวิชาชีพทนายความ


          ทุกวันที่ 20 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น “วันทนายความ” ในปัจจุบันผู้มีวิชาชีพทนายความจะปกครองกันเอง โดยมีองค์กรสภาทนายความเป็นองค์กรวิชาชีพที่มีนายกสภาทนายความ และคณะกรรมการสภาทนายความมาจากการเลือกตั้งของทนายความทุกคน และมีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี มี “คณะกรรมการมรรยาททนายความ” เป็นผู้คอยควบคุมดูแลทนายความให้อยู่ในกรอบของจริยธรรม และมีมาตรการลงโทษสำหรับทนายความผู้ประพฤติผิดมรรยาททนายความ

         พ.ร.บ ทนายความ พ.ศ. 2528 เป็นฉบับล่าสุดที่ใช้กับผู้มีวิชาชีพทนายความ มาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 20 ปี และมีกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2528) ออกตามความใน พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 กำหนดให้ทนายความมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งมีได้ 2 กรณี

               1. ใบอนุญาตให้เป็นทนายความ 2 ปี (ต่อใบอนุญาตทุก 2 ปี)
               2. ใบอนุญาตให้เป็นทนายความตลอดชีพ

        เมื่อพิเคราะห์ดูจากจำนวนทนายความที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทนายความสิ้นสุด ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2547 ปรากฎว่ามีทนายความทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 46,272 คน เป็นผู้มีใบอนุญาต 2 ปี 13,974 คน และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความตลอดชีพจำนวน 32,298 คน การที่ทนายความมีใบอนุญาตตลอดชีพจำนวนมากเช่นนี้ จะทำให้ทนายความห่างเหิน ขาดการปฏิสัมพันธ์กับสภาทนายความ

       ในขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่า ผู้ที่เพิ่งเรียนจบนิติศาสตร์บัณฑิตมักจะฝึกทนายความก่อน หรือสอบขอรับใบอนุญาตทนายความก่อนที่จะไปสอบเป็นอัยการ ผู้พิพากษา หรือทำงานอื่น ๆ ที่มิใช่วิชาชีพทนายความ และส่วนมากมักจะชำระค่าธรรมเนียมครั้งเดียว เพื่อให้ได้ใบอนุญาตตลอดชีพ เพราะค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตลอดชีพของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับของต่างประเทศนับว่าถูกกว่ามาก ทำให้ในปัจจุบันสภาทนายความไม่สามารถทราบได้ว่าผู้ที่มีใบอนุญาตทนายความทั้งหมด จะประกอบวิชาชีพทนายความอย่างแท้จริงกี่คน เพราะมีผู้มีใบอนุญาตทนายความที่ได้ใบอนุญาตแล้ว แต่

          1. ต่อมาได้สอบบรรจุเป็นข้าราชการ, อัยการ, ตำรวจ, ผู้พิพากษา แต่มี ใบอนุญาตทนายความตลอดชีพ
          2. เป็นนิติกรตามหน่วยงานราชการ, เอกชน ทำหน้าที่ปรึกษากฎหมาย แต่ไม่ได้ว่าความในศาล หรืออยู่ประจำสำนักงานทนายความ
          3. ประกอบอาชีพอื่นที่ไม่ใช่ทนายความ เช่น ค้าขาย, ทำธุรกิจ, เกษตรกรรม
          4. เป็นอาจารย์สอนหนังสือ ตามสถาบันศึกษาต่าง ๆ ยกเว้นประกอบอาชีพทนายความ แต่สอนหนังสือเป็นงานพิเศษ

       บุคคลผู้มีใบอนุญาตดังกล่าวข้างต้น สภาทนายความตรวจสอบหากว่ายังประกอบวิชาชีพทนายความอยู่ในปัจจุบันจำนวนเท่าไร ทำให้การเติบโตของสภาทนายความมากด้วยปริมาณ แต่คุณภาพด้านวิชาชีพทนายความอาจน้อยกว่าปริมาณทนายความที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้องค์กรสภาทนายความขาดความเข้มแข็ง ขาดการรวมพลังของทนายความ ในยามวิกฤติที่สภาทนายความต้องลุกขึ้นมาแสดงบทบาทของตัวแทนวิชาชีพ ดังเช่น กรณีการต่อสู้เรื่องการพิจารณาคดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังทำให้สภาทนายความไม่สามารถดำเนินงานได้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายกล่าวคือ

          
1. ส่งเสริมการศึกษา และการประกอบวิชาชีพทนายความ ทำให้ความตั้งใจของสภาทนายความที่จะช่วยเหลือส่งเสริมการประกอบ วิชาชีพทนายความให้พัฒนาก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป ไม่สามารถทำได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้ง ๆ ที่ สภาทนายความได้พยายามทุ่มเทจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่ทนายความตลอดทั้งปีทุกภาค แต่เมื่อดูปริมาณของทนายความที่เข้าร่วมเปรียบเทียบกับผู้มีใบอนุญาตทนายความทั้งหมด นับว่าน้อยกว่ามาก

          2. ควบคุมมรรยาททนายความก็เช่นกัน ในขณะนี้ปริมาณทนายความผู้ประพฤติผิดมรรยาททนายความก็มีจำนวนมากขึ้น อาจเป็นเพราะเมื่อได้ใบอนุญาตทนายความตลอดชีพ และเป็นการได้มาง่ายและเร็ว ทำให้ขาดความรัก ขาดความตระหนักในมรรยาทแห่งวิชาชีพทนายความ

          3. ส่งเสริมความสามัคคี และผดุงเกียรติของสมาชิกสภาทนายความนั้น ในข้อนี้เมื่อทนายความได้ใบอนุญาตตลอดชีพแล้ว ก็มุ่งประกอบวิชาชีพทนายความของตนเอง ไม่มีความจำเป็นหรือข้อบังคับอันใดที่จะต้องไปปฏิสัมพันธ์กับสภาทนายความ ทำให้ขาดความรัก ขาดการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของสภาทนายความ ทำให้เสียดายที่ทนายความทั่วประเทศน่าจะมีความสามัคคีกลมเกลียว และช่วยกันผดุงเกียรติของทนายความให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันสภาทนายความมีบทบาทเป็นที่รู้จักของสังคมวงกว้าง และสามารถช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ และไม่ได้รับความเป็นธรรม

          จนสังคมยอมรับในองค์กร สภาทนายความว่าเป็นที่พึ่งทางกฎหมายของประชาชนทั่วประเทศได้ ทำให้วิชาชีพทนายความได้รับการยอมรับว่าเป็นวิชาชีพที่มีเกียรติ และศักดิ์ศรีที่สามารถช่วยเหลือมนุษย์ผู้ เดือดร้อนได้ แต่ถ้าผู้มีวิชาชีพทนายความตามปริมาณที่จดทะเบียนไว้กับสภาทนายความประมาณ 40,000 คน ได้ช่วยกันร่วมแรงร่วมใจกับสภาทนายความในการช่วยส่งเสริม ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย ก็จะทำให้สภาทนายความได้รับการยอมรับมากขึ้น ทั้งยอมรับในองค์กร และสมาชิกของสภาทนายความทุกคน

          แต่ในความเป็นจริงที่ดำรงอยู่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ถึงเวลาแล้วหรือยังในเวลาที่ล่วงเลยมาถึง 20 ปี ที่สภาทนายความและผู้มีวิชาชีพทนายความ และประกอบอาชีพทนายความ จะได้ช่วยกันสร้าง “นวัตกรรมวิชาชีพทนายความ” ให้สภาทนายความมีสมาชิก ผู้ประกอบวิชาชีพนายความเท่านั้น และสภาทนายความต้องมีบทบาทในการช่วยพัฒนา ความรู้ความสามารถของทนายความให้มีความรู้ทางด้านกฎหมาย และศาสตร์ด้านอื่นให้เท่ากันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งองค์กรวิชาชีพสภาทนายความอย่างประเทศอเมริกาก็ได้ทำไปแล้ว แม้กระทั่งองค์กรวิชาชีพพยาบาล คือ สภาการพยาบาลของไทยก็ได้เปลี่ยนแปลงแล้วเมื่อปี 2540 ดังนั้น ในปีนี้ “นวัตกรรมวิชาชีพทนายความ” ควรจะได้มีการช่วยกันทำให้เป็นจริง เนื่องในโอกาสที่สภาทนายความมีอายุครบ 20 ปี ทั้งขอเสนอเพื่อเป็นแนวทาง ดังนี้

          
1. ให้ยกเลิกการมีใบอนุญาตทนายความตลอดชีพ และเปลี่ยนจากการต่อ ใบอนุญาตทุก 2 ปี เป็นให้ทนายความทุกคนต้องต่อใบอนุญาตทุก 5 ปี ซึ่งคงสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ที่มีใบอนุญาตตลอดชีพอย่างแน่นอน จะทำให้สภาทนายความมีสมาชิกเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพทนายความเท่านั้น เพราะผู้ที่มีใบอนุญาตทนายความแล้วไปประกอบอาชีพอื่น ก็อาจจะไม่มาต่อใบอนุญาต เนื่องจากไม่ได้ประกอบอาชีพทนายความจริง ๆ ทั้งเป็น ข้อมูลสารสนเทศสำหรับสภาทนายความที่จะมีกิจกรรมมีปฎิสัมพันธ์กับสมาชิกได้เป็นปัจจุบัน
หลายคนอาจจะคิดว่าการให้ทนายความที่มีใบอนุญาตตลอดชีพต่อใบอนุญาตทุก 5 ปี เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพนั้น สามารถเทียบเคียงได้กับกรณีสภาการพยาบาล ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 28/2547 โดยคดีดังกล่าว พยาบาลผู้มีใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาการพยาบาลและผดุงครรภ์ ซึ่งใบอนุญาต ดังกล่าว ไม่ได้มีการกำหนดให้หมดอายุ ต่อมามี พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติให้ใบอนุญาตทุกประเภทมีอายุ 5 ปี โดยผู้ฟ้องโต้แย้งว่า เป็นการบัญญัติกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาแล้วเห็นว่า บทบัญญัติที่ให้ต่อใบอนุญาตทุก 5 ปี ไม่ได้กระทบกระเทือน หรือมีผลต่อการปฎิบัติงานของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตที่ได้กระทำไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540 มีผลบังคับใช้ นอกจากนั้นการกำหนดอายุ และการต่อใบอนุญาตยังถือว่าเป็นประโยชน์กับประชาชนที่ใช้บริการ จากผู้ประกอบวิชาชีพที่ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการ คุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชน และการกำหนดอายุใบอนุญาตไม่ได้หมายความว่า เมื่อครบกำหนดใบอนุญาตแล้ว ผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวจะไม่มีสิทธิที่จะประกอบวิชาชีพของตนเองได้อีกต่อไป แต่หากยังมีสิทธิในการประกอบวิชาชีพดังกล่าวต่อไปได้ เมื่อได้ต่ออายุ ใบอนุญาตตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งไม่ได้เป็นการกำจัดเสรีภาพในการประกอบ วิชาชีพแต่อย่างใด แต่การที่ได้รับใบอนุญาต โดยไม่มีการกำหนดอายุใบอนุญาตจะทำให้ผู้ได้รับใบอนุญาตไม่มีการพัฒนาความรู้ความสามารถ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งกลับจะทำให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้ใช้บริการ ดังนั้น มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2540 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่ประการใด
สำหรับวิชาชีพทนายความหากจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ทำได้ง่ายกว่า เพราะบัญญัติไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 2 พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ยุติธรรม แต่ก็ควรเสนอโดยสภาทนายความที่ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมากในการดำเนินการ

          2. การต่อใบอนุญาตทนายความ ใช้หลักเกณฑ์การให้คะแนนนับเป็น หน่วยกิต ผู้ที่จะต่ออายุใบอนุญาตจะต้องเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถทางวิชาชีพ หรือ วิชาการ หรือการมีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากร หรือพัฒนาวิชาชีพกระทำได้โดยการเข้าฟังบรรยายอภิปรายสัมมนา หรือเข้าร่วมกิจกรรมฟื้นฟูวิชาการอื่น ๆ รวมทั้งการเข้ารับการศึกษาอบรมในหลักสูตรทางกฎหมาย โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะต้องลงทะเบียน และร่วมกิจกรรมตลอดระยะเวลาที่กำหนด จึงจะได้รับหน่วยคะแนน โดยจะต้องมีหลักฐานที่ผ่านการประชุมอบรมที่ออกให้โดยผู้จัดการประชุมอบรม และหลักสูตร, จำนวนหน่วยคะแนน หรือหน่วยกิต จะต้องได้รับการรับรองจากสภาทนายความ หรือศูนย์การศึกษากฎหมายที่สภาทนายความ จัดตั้งขึ้น

          3. การต่อใบอนุญาต หากทนายความไม่สามารถไปอบรมสัมมนา ซึ่งแต่ละครั้งนับจำนวนชั่วโมง วันที่เข้าร่วมเทียบเป็นคะแนนหรือหน่วยกิตก็สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น คอมพิวเตอร์ หรือการประเมิน และทบทวนความรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อสำเร็จรูป ต้องมีแบบทดสอบ เช่น 5 ข้อ ต่อ 1 คะแนน เป็นต้น หมายความว่าผู้ที่จะ ต่อใบอนุญาตเลือกที่จะเก็บคะแนนให้ครบจากการเข้าร่วมสัมมนา อบรม ตลอด 5 ปี หรือหากได้คะแนนไม่ครบตามเกณฑ์ก็สามารถขอแบบทดสอบจากสภาทนายความ เมื่อได้ครบคะแนนที่วางไว้ จึงเอาคะแนนหรือหน่วยกิตนั้น ไปต่อใบอนุญาตทนายความในปีที่ 5

          4. การต่อใบอนุญาตสามารถทำได้จากการมีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากรหรือพัฒนาวิชาชีพ เช่น ทนายความได้แต่งตำราเขียนบทความทางวิชาการ, การเป็นวิทยากร, ผู้อภิปรายร่วมในการประชุมวิชาการ/สัมมนา/อบรม
หากมีหลักเกณฑ์ข้างต้นก็จะมีหน่วยงานสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เสนอหลักสูตร/โครงการ ให้สภาทนายความรับรองหน่วยคะแนน เพื่อจะได้มีทนายความที่ประสงค์จะต่อใบอนุญาตเข้าอบรมสัมมนา เพื่อเก็บคะแนนไว้ต่อใบอนุญาต ส่วนของสภาทนายความก็ต้องจัดตั้งศูนย์การศึกษากฎหมายที่มีหน้าที่ตรวจสอบ และรับรองหลักสูตร/โครงการของ กิจกรรมที่เสนอขอให้ทนายความผู้เข้าร่วมสามารถเก็บคะแนนได้ มีหน้าที่กำหนดหน่วยคะแนนเทียบเคียงได้กับบทบาทภารกิจหน้าที่ของศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง สาขาพยาบาลศาสตร์ของสภาการพยาบาลแห่งประเทศไทย


ผู้รับบริการกับการต่อใบอนุญาต

          นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กรรมการผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า การต่ออายุใบอนุญาตมีประโยชน์กับผู้บริโภค เพราะความก้าวหน้าทาง วิชาการมีอยู่ตลอดเวลาในท่ามกลางยุคข้อมูลข่าวสาร เพราะฉะนั้นการต่อใบอนุญาตประกอบ วิชาชีพ จะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับภาวะของยุคสมัยปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นสภาวิชาชีพก็จะถูกตั้งคำถาม เรื่องการต่ออายุใบอนุญาตของผู้ประกอบวิชาชีพว่าเป็นเพียงกลไก หรือเครื่องมือที่สภาวิชาชีพจะเก็บเงินจากผู้ประกอบวิชาชีพ แต่จะทำอย่างไรให้กลไกนี้เป็นเครื่องมือในการสร้างหลักประกันให้กับผู้ไปใช้บริการ ว่ากันจริง ๆ แล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคนมีความรู้เป็นปัจจุบัน รู้เท่าทันกับภาวะการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนไป จึงเป็นหัวใจที่จะทำให้การต่อ ใบอนุญาตเป็นประโยชน์นอกจากนี้ วิชาชีพต้องมีความเป็นสากล สถานการณ์ในนานาประเทศก็ Re-licensing กันทั้งนั้นไม่มี Permanent licensing ไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้นความเป็นสากลนี้มีความจำเป็น และถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง

          ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดนับว่า การครบรอบ 20 ปี ของสภาทนายความเป็นโอกาสดีที่คณะกรรมการบริหารสภาทนายความ และหรือสภานายกพิเศษสภาทนายความ จะต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) โดยขอความร่วมมือจากผู้มีวิชาชีพทนายความทุกคน ที่จะต้องถือเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตนเอง เพราะการต่อใบอนุญาต ดังกล่าวข้างต้น เป็นการทำให้ทนายความได้พัฒนาตัวเองเรียนรู้กับการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการใหม่ ๆ ตลอดเวลา รวมทั้งความรู้ใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่จะต้องก้าวไปพร้อมกับความตื่นตัวทางสังคมใหม่ ๆ หากมีการเปลี่ยนได้ดังกล่าว เช่น นานาอารยประเทศทำกันอยู่แล้วจึงจะเรียกได้ว่ามี “นวัตกรรมวิชาชีพทนายความไทย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น