วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2559

การส่งต่อทางวิชาชีพทนายความ

การส่งต่อทางวิชาชีพทนายความ




          ทนายความที่รับว่าความให้กับตัวความ มักจะเริ่มต้นโดยการติดต่อพบปะพูดคุยรายละเอียดคดีเกี่ยวกับตัวความ เช่น เป็นคดีอะไร ประเภทไหน มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีอย่างไร ซึ่งตัวความจะต้องเล่ารายละเอียดให้กับทนายความฟังตามที่ทนายความต้องการเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินคดีในศาล ทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องตกลงกันในเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี แล้วแต่วิธีการเรียกของทนายความแต่ละคน รวมทั้งค่าตอบแทนวิชาชีพว่าคิดกันในอัตราเท่าไร จะเบิกจ่ายกันอย่างไรบ้าง และพูดคุยถึงพยานหลักฐานที่จะนำมาใช้ประกอบการดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคล พยานเอกสารหรือพยานวัตถุก็ตาม

          เมื่อตกลงกันได้แล้ว ตัวความก็กลายเป็นผู้ว่าจ้าง ส่วนทนายความก็เป็นผู้รับจ้างไป ถึงขั้นตอนนี้ทนายความต้องคำนึงถึงมรรยาทต่อตัวความ ซึ่งปรากฎอยู่ในข้อบังคับสภาทนายความวาด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 หมวด 3 ตั้งแต่ข้อ 9- ข้อ 15 เช่น ต้องไม่เปิดเผยความลับลูกความ ไม่ยุยงส่งเสริมให้มีการฟ้องร้องคดี ในกรณีอันหามูลมิได้ ทั้งต้องไม่กระทำการใด ๆ ในลักษณะอันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ

          แต่ในความเป็นจริงมีหลายคดีที่ขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณา ทนายความกับตัวความมีความเห็นทางคดีไม่ตรงกันหรือมีความขัดแย้งกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายหรือแนวทางในการต่อสู้คดี หรืออาจจะเป็นเพราะตัวความไม่พอใจในการดำเนินคดีของทนายความ ทางแก้ก็คือ
          1. ตัวความยื่นคำร้องต่อศาลแจ้งให้ศาลทราบว่า ไม่ประสงค์จะให้ทนายความคนนั้นเป็นทนายความให้ต่อไป เป็นคำร้องขอถอนทนายความ ซึ่งเป็นเอกสิทธิของตัวความที่จะทำได้ แต่ต้องมิใช่มีเจตนาเพื่อประวิงคดีให้ช้า หรือเพื่อให้มีการเลื่อนคดีออกไป ถ้าตัวความมีเจตนาดังกล่าวอาจถูกข้อหาละเมิดอำนาจศาล

          2. ทนายความผู้รับจ้าง ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความต่อศาล ซึ่งในกรณีนี้หากตัวความยังไม่ได้รับรู้ รับทราบ หรือให้ความยินยอมศาลมักจะยังไม่สั่งอนุญาตให้ถอนต้องรอให้ตัวความยินยอมก่อน โดยตัวความอาจแถลงต่อศาลว่ารับทราบ และไม่คัดค้าน หรือทำเป็นคำแถลงยื่นต่อศาลก็ได้ แต่ก็เช่นเดียวกันการยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของทนายความต้องมิใช่เจตนาประวิงคดี หรือเพื่อเลื่อนคดีซึ่งศาลมักจะพิจารณาถอนตัวในวันไหน ขั้นตอนใด ถ้าถอนตัวในวันสืบพยานต่อเนื่อง ศาลไม่อาจอนุญาตได้ เพราะอาจถูกมองว่าเป็นการประวิงคดี

          แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีความเห็นแตกต่างกันหลายฝ่าย บ้างก็ว่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว เมื่อทนายความกับตัวความขัดแย้ง หรือมีความเห็นไม่ตรงกันแล้ว การที่ศาลไม่อนุญาตอาจทำให้ตัวความเสียผลประโยชน์ทางคดีก็ได้ เพราะทนายความมีหน้าที่ต้องว่าความให้ตัวความเมื่อความเห็นไม่ตรงกัน ทำให้เกิดผลกระทบในทางลบแก่รูปคดีแน่นอน ดังนั้น ศาลควรจะมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนตัวได้ เมื่ออยู่ระหว่างหรือใกล้วันสืบพยานก็ตามที

          แต่บางความเห็นโดยเฉพาะทางศาล อาจจะมีความเห็นว่าการถอนและขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของตัวความทั้ง ๆ ที่มีการนัดพิจารณาคดีไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการสืบพยานโจทก์ พยานจำเลย หากมีการถอนตัวใกล้วันนัดสืบพยาน หรือในระหว่างสืบพยาน ทำให้กระบวนพิจารณาล่าช้า จึงไม่ควรอนุญาตให้ถอนตัวจากการเป็นทนายความ เพราะทำให้เสียวันนัด โดยเฉพาะการพิจารณาคดีต่อเนื่อง ทำให้คดีล่าช้าออกไปเป็นหลายเดือน หรือต้องต่อคิวนัดใหม่เป็นปีก็เป็นได้ และถ้าไม่อนุญาตให้ถอนตัวทนายความก็จะต้องทำหน้าที่ต่อไปอย่างเต็มที่ มิฉะนั้นจะเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความได้

          ในกรณีที่จะกล่าวต่อไปนี้ หากในระหว่างการพิจารณาคดีตัวความ ตกลงถอนทนายความและทนายความก็ยินยอมให้ถอนโดยทำคำร้องยื่นต่อศาล ศาลอนุญาตให้ถอนได้ เป็นที่น่าพิจารณาว่า เมื่อศาลอนุญาตแล้วหน้าที่ของทนายความคนเดิมที่มีต่อตัวความหรือต่อศาลสิ้นสุดแล้วหรือยัง หลาย ๆ คดีเกี่ยวกับมรรยาททนายความที่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรรยาท เพราะทนายความประพฤติผิดมรรยาททนายความข้อ 12 คือ กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้ อาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ

          (1) จงใจขาดนัดหรือทอดทิ้งคดี

          (2) จงใจละเว้นหน้าที่ ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตน หรือปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบข้อเท็จจริงในคดีที่สู่การพิจารณาคดีของคณะกรรมการมรรยาทความแล้วมีการวินิจฉัยว่า กระทำการอันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความก็เช่นกัน

                    - ทนายความไม่ติดตามผลคดี ปล่อยให้พ้นระยะเวลาอุทธรณ์ ทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ (คำสั่งที่ 15/2533)
                    - ทนายความไม่ไปศาลในวันฟังประเด็นกลับ ทำให้ศาลถือว่าทนายความไม่มีพยานมาสืบและพิพากษาให้ตัวความแพ้คดี

          เมื่อพิจารณาตามแนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการมรรยาททนายความแล้วก็พิจารณาได้ว่า แม้ทนายความไม่ได้ดำเนินการให้กับลูกความจนเกิดความเสียหาย ไม่ว่าเพราะทนายความเกิดหลงลืมหรือเกิดจากความประมาทเลินเล่อ หรือไม่ตั้งใจ หรืvเพราะไม่ทราบกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นการจงใจละเว้นหน้าที่ หรือจงใจขาดนัด หรือฟ้องคดีแล้ว และตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนตัวจากการเป็นทนายความแม้จะมีการบอกเลิกการเป็นทนายความแล้ว ทนายความก็ยังต้องจัดการอันสมควรทุกอย่างเพื่อจะปกปักรักษาประโยชน์ของลูกความไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 828 ไม่ใช่เห็นแก่อามิสสินจ้างเป็นสำคัญ

          ปัจจุบันนับเป็นประโยชน์กับวงการวิชาชีพทนายความที่แนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการมรรยาททนายความได้วางแนวไว้กว้างขึ้นกว่าเดิม กล่าวคือ แม้ว่าศาลจะอนุญาตให้ทนายความถอนตัวจากการเป็นทนายความแล้ว โดยตัวความรู้เห็นและยินยอมถือว่าสิ้นสุดในการทำหน้าที่ของทนายความคนเดิมแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ลูกความยังไม่สามารถหาทนายความคนใหม่มาแทนที่ได้ ด้วยจิตสำนึกในวิชาชีพทนายความ ทนายความคนเดิมก็ยังต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของลูกความจนกว่าตัวความจะหาทนายความคนใหม่ ที่มารับช่วงต่อในการทำคดีได้ ทั้งต้องให้คำแนะนำแก่ลูกความในการหาทนายความ โดยแจ้งให้ตัวความทราบว่าภารกิจของทนายความคนใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาขั้นตอนใดบ้าง ไม่ใช่เมื่อศาลอนุญาตให้ถอนตัวแล้ว ทนายความก็ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับตัวความอีกเลย ไม่ว่าตัวความจะหาทนายความคนใหม่ที่ดีได้หรือไม่ก็ตาม เพราะเปรียบเสมือนทนายความเป็นคนแจวเรือจ้างส่งตัวความข้ามแม่น้ำจากริมฝั่งหนึ่งไปยังริมฝั่งหนึ่ง เมื่อทนายความยกเลิกการพายเรือกลางคัน แม้ว่าตัวความจะยินยอมแล้วก็ตาม ทนายความก็ต้องมีหน้าที่แนะนำช่วยเหลือจนกว่าตัวความจะหาคนพายหรือคนใหม่มาได้

          ในขณะเดียวกัน แม้จะมีการเลิกจ้างทนายความคนเดิมแล้วก็ตาม ในแง่ของตัวบุคคลภารกิจในหน้าที่สิ้นสุดแล้ว แต่ “การส่งต่อทางวิชาชีพ” ยังต้องทำต่อไปกล่าวคือ ทนายความคนเดิมยังมีหน้าที่ต้องสรุปประเด็นในคดีที่ได้ทำมาแล้ว รวมทั้งแนวทางการดำเนินคดีพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความร่วมมือกับทนายความคนใหม่ไม่ว่าจะเป็นด้านพยานเอกสาร พยานวัตถุ หรือพยานบุคคลในรูปคดีก็ตาม เพราะ “วิชาชีพทนายความ” ได้ช่วยตัวความมาตั้งแต่ต้น แม้จะเปลี่ยนทนายความแล้วก็ตาม แต่การต้องการความช่วยเหลือของตัวความจาก “วิชาชีพทนายความ” ยังคงมีอยู่ต่อไป ภารกิจทางกฎหมายสิ้นสุด แต่ภารกิจในการส่งต่อทางวิชาชีพยังไม่สิ้นสุด ทนายความคนเดิมจึงยังต้องทำหน้าที่ส่งต่อวิชาชีพทนายความให้กับทนายความคนใหม่ทำคดีต่อไป โดยไม่ต้องให้ทนายความคนใหม่มารับช่วงต่อโดยนับหนึ่งใหม่ในการดำเนินคดี ซึ่งแนวทางการวินิจฉัยของคณะกรรมการมรรยาทในปัจจุบัน ได้วางแนวไว้กว้างว่าแม้จะได้มีการถอนตัวไปแล้วโดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่การส่งต่อทางวิชาชีพทนายความเป็นหน้าที่ตามมรรยาททนายความที่ทนายความคนเดิมจะต้องรักษาผลประโยชน์ของลูกความ มิฉะนั้นแล้วทนายความคนเดิมอาจมีความผิดในฐานะไม่รักษาผลประโยชน์ของลูกความ และเป็นการจงใจละเว้นหน้าที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดี หน้าที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตนตามข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความข้อ 12 ได้

          ดังนั้น หากทนายความทุกคนตระหนักรู้และเข้าใจว่า “การส่งต่อทางวิชาชีพทนายความ” เป็นภารกิจทางวิชาชีพที่สำคัญย่อมทำให้วิชาชีพทนายความเป็นที่สร้างความอุ่นใจให้แก่ตัวความและประชาชนตลอดจนสังคมในที่สุด









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น