วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ประเมินสถานภาพวิชาชีพทนายความไทย

ประเมินสถานภาพวิชาชีพทนายความไทย



            ยัง (Kimball Young) และ แม็ก (Raymond W.Mack) ได้ให้คำนิยามสถานภาพ (status) ว่าตำแหน่ง (position) ในโครงสร้างสังคม” (อานนท์, .13) ในฐานะที่ทนายความเป็นวิชาชีพหนึ่งจึงอาจกล่าวได้ว่าสถานภาพของวิชาชีพทนายความคือระดับของวิชาชีพในโครงสร้างตำแหน่งของวิชาชีพกับอาชีพต่าง ๆ ในสังคมไทย ซึ่งเมื่อเอาวิชาชีพทนายความและวิชาชีพอื่นหรืออาชีพอื่น ๆ มาเปรียบเทียบกันแล้ว ก็จะประเมินได้ว่าวิชาชีพทนายความอยู่ในตำแหน่งระดับใดสูงหรือต่ำในสังคม ตัวอย่างเช่นเมื่อเปรียบเทียบกับวิชาชีพทนายความทนายความในประเทศอเมริกาหรือประเทศแถบยุโรปจะได้รับการยอมรับยกย่องในสังคมสูงกว่าอาชีพอื่น ๆ ในสังคม เมื่อเปรียบเทียบกับวิชาชีพทนายความในสังคมไทยยังได้รับการยอมรับน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในแถบยุโรป อเมริกา หรือในประเทศพัฒนาแล้ว คำว่าทนายความคือพวกหัวหมอหรือคำพูดของนายกรัฐมนตรีไทยคนปัจจุบันที่เปรียบเทียบว่าทนายความคือพวกที่ช่วยคนหลังทำผิด คำพูดเหล่านี้เป็นตัวชี้วัด (Indicator) อย่างหนึ่ง ซึ่งชี้ได้ว่าวิชาชีพทนายความไทยอยู่ในระดับใดของสังคมไทย  เมื่อเปรียบเทียบกับวิชาชีพหรืออาชีพอื่น ๆ แต่การประเมินที่แท้จริงจะต้องมีมาตรการ อะไรคือมาตรการ และอะไรคือปัจจัยหรือตัวแปรที่กำหนดให้วิชาชีพทนายความว่าอยู่ในตำแหน่งใดในสังคมไทยมาตรการประเมิน  เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสถานภาพของวิชาชีพทนายความเป็นปกติ หรือกำลังตกต่ำเสื่อมถอยลง จึงต้องมีเครื่องวัดที่เข้าใจหัวใจหรืออุดมการณ์ของวิชาชีพ ซึ่งมีมาตรการประเมินสถานภาพของวิชาชีพทนายความอยู่ 2 ชั้น เป็นตัวเหตุ (causes) และตัวผล (effects) ต่อกัน  ดังนี้            
                  มาตรการชั้นที่ 1  :  ตัวผล ได้แก่สมาชิก และสมาชิกภาพ
                  มาตรการชั้นที่ 2  :  ตัวเหตุ ได้แก่รางวัล

                 มาตรการชั้นที่สมาชิกและสมาชิกภาพ ประกอบด้วย 3 มาตรการย่อย

                        
    1.1 การเข้าเป็นสมาชิกวิชาชีพทนายความ ดูจากคุณภาพและปริมาณของบุคคลที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของวิชาชีพทนายความ โดยเราต้องตรวจสอบว่ามีสาธารณชนมาสมัครเป็นทนายความ หรือขอมีใบอนุญาตทนายความมากน้อยเพียงใด คนเหล่านั้นมาจากชนชั้นใดในสังคม เช่น เป็นนักศึกษาที่เพิ่งจบนิติศาสตร์บัณฑิต หรือจบเนติบัณฑิตไทย แต่เป็นสมาชิกเพื่อรอสอบอัยการ และผู้พิพากษา หรือเป็นข้าราชการที่เกษียณอายุ แต่มีวุฒิ น.. จึงมาสมัครเพื่อขอมีใบอนุญาตทนายความ ชนชั้น และ เพศบ่งชี้ถึงอำนาจและความได้เปรียบในสังคม ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม วัยวุฒิ บ่งชี้ถึงกำลังความสามารถและประสบการณ์ของชีวิตความสามารถ คุณธรรม ศรัทธาในวิชาชีพทนายความ บ่งชี้ถึงคุณภาพของผู้ที่จะมาเป็นทนายความหากปัจจัยข้างต้นบ่งชี้ในทางบวก ก็แสดงว่าสถานภาพของวิชาชีพทนายความในสังคมอยู่ในขั้นปกติหรือดี หรือดีมาก หากบ่งชี้ในทางลบมากก็แสดงว่าผู้ที่จะมาเป็นทนายความไม่ได้ศรัทธาในวิชาชีพหรืออาจมีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งมาตรการนี้สามารถทำได้โดยเก็บข้อมูลจากเอกสารทะเบียนแล้วแยกออกเป็นหมวดหมู่ตามหัวข้อ ก็จะมองเห็นผลบวกหรือลบได้      
             
    1.2 การดำรงอยู่ในวิชาชีพทนายความ หมายความว่า สถานภาพที่สูงส่งมั่นคงของวิชาชีพที่มีระดับความยอมรับของสังคมสูง ย่อมเป็นสิ่งดึงดูดใจให้ทนายความประกอบอาชีพทนายความไปตลอดชีวิต ในทางกลับกันถ้าสถานภาพที่ตกต่ำของวิชาชีพย่อมเป็นเหตุให้ทนายความที่อุดมการณ์ไม่แกร่งกล้าละทิ้งวิชาชีพไปทำงานอื่น เช่น ไปสอบอัยการ ผู้พิพากษา ประกอบอาชีพธุรกิจ ดังนั้น การดำรงอยู่หรือทอดทิ้งวิชาชีพทนายความของสมาชิกสภาทนายความจึงเป็นมาตรการที่ใช้ประเมินสถานภาพของวิชาชีพทนายความไทยได้ ข้อมูลที่ควรหาเพื่อประกอบในการประเมินตรงนี้คือ
   1. มีสมาชิกสภาทนายความจำนวนเท่าใดที่ทิ้งวิชาชีพในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง จากข้อเท็จจริงสภาทนายความมีสมาชิกประมาณ 40,000 คนเศษ มีที่อยู่ที่ขึ้นทะเบียนในกรุงเทพมหานครประมาณ 20,000 คน อยู่ใน 75 จังหวัด รวมกันอีกประมาณ 20,000 คน แต่ในจำนวนทั้งหมดมีทนายความหลายคนที่มีใบอนุญาตตลอดชีพ แต่ไม่ได้ประกอบอาชีพทนายความแล้ว เช่น รับราชการเป็นอัยการ ตำรวจ ผู้พิพากษา นิติกรภาครัฐ หรือไปประกอบธุรกิจ เป็นต้น                                                                               
   2. คุณสมบัติของผู้ที่ทิ้งวิชาชีพทนายความเป็นอย่างไร (เพศ วัย สถานภาพทางสังคม ตำแหน่ง เงินเดือน ฯลฯ) และ3. เหตุผลที่คนเหล่านี้ทิ้งวิชาชีพทนายความคืออะไร หากเราได้ข้อมูลเหล่านี้มาก็สามารถวิเคราะห์หาสาเหตุและกำหนดแนวทางแก้ไข เพื่อทำให้สถานภาพวิชาชีพทนายความไทยดีขึ้นกว่าเดิมได้                        

     1.3 การอุทิศตัวแก่วิชาชีพ หมายถึง การที่ทนายความมีอิทธิบาทสี่ในวิชาชีพคือมี ฉันทะ (ความรับ ความพอใจ) วิริยะ (ความพากเพียร) จิตติ (ความเอาใจใส่) และวิมังสา (หมั่นไตร่ตรองหาเหตุผล) สมาชิกสภาทนายความที่อุทิศตนแก่วิชาชีพทนายความย่อมมีความภูมิใจและมีความสุขในการที่ได้เป็นทนายความ และประกอบอาชีพทนายความ

ข้อมูลที่ควรหาเพื่อประเมิน เช่น           

      1. ทนายความมีอาชีพอื่นทำด้วยหรือไม่ อาชีพใดเป็นอาชีพหลัก อาชีพใดเป็นอาชีพเสริม            
      2. ทนายความได้พัฒนาตัวเองอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะให้มีคุณสมบัติที่จะช่วยให้การปฏิบัติงานวิชาชีพทนายความดีขึ้น และดีขึ้นหรือไม่เพียงใด            
      3. ทนายความที่อุทิศตนในวิชาชีพมีจำนวนมากน้อยเพียงใด และมีคุณสมบัติ (เพศ อายุ สถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคม ความสามารถ ความศรัทธาในวิชาชีพ ความรักในเพื่อนมนุษย์) เป็นอย่างไร                  4. ทนายความที่อุทิศตนในวิชาชีพมีเหตุผลอะไร         

                 มาตรการชั้นที่ 2 รางวัล (ตัวเหตุ)  นอกจากใช้มาตรการชั้นที่ 1 แล้ว ยังมีมาตรการประเมินที่จะช่วยทำให้การระบุสถานะวิชาชีพทนายความในสังคมดูชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถใช้ รางวัลเป็นมาตรการประเมินแบ่งรางวัลออกได้เป็น 2 ประเภท 
           
            2.1 รางวัลภายนอก (extrinsic reward)
            2.2 รางวัลภายใน (intrinsic reward)


                        2.1 รางวัลภายนอก (extrinsic reward) คือประโยชน์สุข (utility) ที่ได้จากสังคมในฐานะที่เป็นสมาชิกของวิชาชีพ ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรม ซึ่งแบ่งแยกย่อยออกได้เป็น 5 อย่าง คือ   

                     
() รายได้ (income) คือ ตัวเงินที่ทำได้รายเดือน โดยเฉลี่ยจากการเรียกค่าปรึกษาวิชาชีพทนายความ หรือค่าว่าความ เป็นต้น ซึ่งเราสามารถเปรียบเทียบรายได้วิชาชีพทนายความ ในช่วงเวลาต่างกัน ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบด้วย                        

() สิ่งตอบแทนและสวัสดิการ (welfare) คือ รายได้เสริมของทนายความ ส่วนสวัสดิการคือผลประโยชน์ที่ได้เนื่องจากตำแหน่งในวิชาชีพทนายความ เช่น การเบิกค่ารักษาพยาบาล, สิทธิในการกู้เงินฉุกเฉิน ค่าเล่าเรียนบุตรทนายความ เบี้ยเลี้ยงเดินทาง เป็นต้นสิ่งเหล่านี้สามารถเป็นตัวชี้วัด (Indicator) ในการประเมินสถานภาพของวิชาชีพทนายความ                        

() เสรีภาพในการปฏิบัติงาน (freedom) หมายถึง สาธารณชนหรือสังคมย่อมไม่ก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติงานของสมาชิกวิชาชีพทนายความ เช่น ให้สภาทนายความตรวจสอบวิชาชีพทนายความด้วยกันเอง โดยมีคณะกรรมการมรรยาททนายความเป็นหน่วยงานตรวจสอบ ถ้าวิชาชีพใดถูกแทรกแซงมากถูกวิพากษ์วิจารณ์ควบคุมตรวจสอบมาก ย่อมหมายถึงสถานภาพของวิชาชีพนั้น ๆ ไม่แข็งแกร่งหรือกำลังตกต่ำลง                        

() เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือการยอมรับนับถือ (prestige) เหล่านี้ล้วนเป็นรางวัลทางสังคม วัฒนธรรมที่สาธารณชนให้แก่สมาชิกวิชาชีพ เช่น วิชาชีพทนายความจะได้รับความศรัทธา ไว้วางใจ และการยกย่องจากสังคมว่าเป็นปัญญาชน ผู้เชี่ยวชาญ กฎหมาย มีศักดิ์ศรี หากเห็นเกียรติยศ และคุณธรรม หรือผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าวัตถุเงินทอง ในการประเมินสถานภาพของวิชาชีพทนายความด้านสังคมและวัฒนธรรมนี้ ต้องวิเคราะห์หาเครื่องมือหรือมาตรการย่อย เช่น ปริมาณคนที่ใช้บริการวิชาชีพทนายความ เมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานทางกฎหมายหน่วยอื่น หรือความชื่นชมของสาธารชนที่แสดงออกด้วยกริยาอาการ คำพูด หรือปรากฎทางสื่อมวลชน เป็นต้น                        

() ความมั่นคง, เสถียรภาพ (security) แม้วิชาชีพอาจจะไม่ทำให้ใครร่ำรวย แต่หากผู้มีวิชาชีพทนายความยึดมั่นในคุณธรรม ความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพก็จะทำให้วิชาชีพทนายความมีความมั่นคงในชีวิตสูง เพราะบริการวิชาชีพมักจำเป็นแก่สังคม จึงสามารถใช้เป็นเครื่องยังชีพตลอดชีวิตได้                        


2.2 รางวัลภายใน (intrinsic rewards) คือประโยชน์สุขที่ผู้มีวิชาชีพทนายความได้จากตัวงานวิชาชีพเอง เป็นลักษณะนามธรรมมีองค์ประกอบ ดังต่อไปนี้                         

() สมรรถภาพ (Compentency) วิชาชีพทนายความต้องอาศัยความชำนาญพิเศษด้านกฎหมายในการปฏิบัติงาน จึงเป็นเครื่องช่วยพัฒนาความสามารถของทนายความตลอดช่วงเวลาที่ยังเรียนรู้ และปฏิบัติงานอยู่อาจเกิดจากมีกฎหมายใหม่ ๆ ที่ต้องใช้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดมา ทั้งงานทนายความต้องใช้ความสามารถหลายด้าน เช่น มีความรู้ ความเข้าใจ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การคิดเชิงบูรณาการ ทักษะ การคิด เหตุผล เป็นต้น                        

() จริยภาพ (disinterested) วิชาชีพทนายความต้องถูกคาดหวังให้อุทิศตนในการช่วยเหลือสังคมในแง่ของการส่งเสริม ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย ซึ่งนอกจากประกอบวิชาชีพทนายความแล้วต้องมีอุดมการณ์แห่งการเสียสละและบริการด้วย  จึงเป็นการพัฒนาจริยธรรมส่วนตนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต                        

() อิสรภาพ เพราะวิชาชีพทนายความให้อิสรภาพแก่ทนายความ 3 ระดับ คือ                        

(1) อิสรภาพที่จะค้นคว้าและประกาศสัจธรรมในวิชาชีพ ทั้งไม่จำกัดในการพัฒนาคุณภาพของตนเองให้เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญและมีอุดมการณ์                        
(2) อิสรภาพที่จะให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่บุคคลอื่นในระดับหนึ่ง โดยไม่เห็นแก่ได้หรือไม่เสียสละจนเกินไป                        
(3) มีอิสรภาพที่จะหลุดพ้นจากความโง่เขลา หลุดพ้นจากการเป็นทาสของกิเลสในระดับหนึ่ง ทั้งให้อิสรภาพในการดำรงชีวิตจากวิชาชีพทนายความ ทั้งช่วยในการดำรงชีพของทนายความเป็นอย่างมาก                        

() ความศรัทธา สมาชิกวิชาชีพทนายความถ้ามีความศรัทธาในอุดมการณ์ คือ มีความเสียสละ ศรัทธาในมนุษย์ ศรัทธาในตนเอง ทำให้ชีวิตมีความหมายและมีพลัง ย่อมชักนำให้เคารพคนอื่น ทั้งได้รับความยอมรับจากผู้อื่นในวิชาชีพทนายความด้วย                        

() มิตรภาพ การปฏิบัติงานวิชาชีพทนายความอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม โดยไม่เห็นแก่ได้ เท่ากับเป็นการหยิบยื่นมิตรภาพให้แก่คนอื่น ย่อมได้รับมิตรภาพที่ดีกลับคืนมาเช่นเดียวกัน มิตรภาพจึงเป็นรางวัลที่สร้างความประทับใจให้กับผู้มีวิชาชีพทนายความได้   
                 
(ปัจเจกภาพ หากผู้มีวิชาชีพทนายความได้ฝึกปรือตัวเอง ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ทั้งมีอุดมการณ์ ทำให้ผู้นั้นสามารถมองย้อนเห็นว่าตัวเองเป็นคนเช่นไร หากยอมรับและเข้าใจตนเองได้ย่อมสามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่เท่าที่ตนเองมีความสามารถ (self – actualization) ซึ่งเป็นการบรรลุความต้องการขั้นสูงสุดของมนุษย์ ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นที่พัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต                        

() สุนทรียภาพ คือภาวะแห่งความงามที่สามารถรับรู้ได้จากประสาทสัมผัสทั้งห้า สำหรับผู้มีวิชาชีพทนายความในฐานะที่เป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม อุดมการณ์ ย่อมมีโอกาสเข้าถึงสุนทรียภาพ ได้เหนือกว่าสาธารณชนทั่วไป และหากสถานภาพของวิชาชีพทนายความได้รับการยอมรับสูงในสังคม ย่อมทำให้ผู้มีวิชาชีพทนายความสามารถเข้าถึงสุนทรียรสของวรรณกรรม ดนตรี การแสดง ฯลฯ ในระดับสูงได้ดีกว่าเข้าถึงความงดงามของงานศิลปะต่าง ๆ ได้ดีกว่า เป็นต้น                        

() ความสุข ผู้มีวิชาชีพทนายความสามารถได้ความสุขระดับหนึ่งจากรายได้ สิ่งตอบแทน สวัสดิการ อำนาจ เกียรติยศ ชื่อเสียง ที่สังคมมอบให้แก่ทนายความสามารถมีความสุขในระดับสูงขึ้น จากการได้พัฒนาตนเองด้านความสามารถอันหลากหลาย และจริยธรรม ทั้งสามารถลิ้มรสความสุขจากการที่ได้ทราบว่าชีวิตทนายความของคนนั้นมีความหมาย มีพลังอันเป็นผลมาจากความศรัทธาในอุดมการณ์ของวิชาชีพ ศรัทธาในตนเอง และเพื่อนมนุษย์ เช่น ทนายความทองใบ  ทองเปานด์ ที่ได้รู้อย่างแท้จริงว่า รสชาติของความสุขจากมิตรภาพที่แท้ที่สังคมยอมรับและมอบให้เป็นอย่างไร

                        โดยสรุป สถานภาพของวิชาชีพทนายความ คือ ระดับของรางวัลทั้งภายนอกและภายในที่สมาชิกวิชาชีพทนายความได้จากการปฏิบัติงานนั้น ๆ โดยวัดจากรายได้ ค่าตอบแทน และสวัสดิการ อำนาจ หรือเสรีภาพในการปฏิบัติงาน และเกียรติยศ ชื่อเสียง หรือการยอมรับนับถือ ตลอดจนความมั่นคงจากการใช้บริการวิชาชีพนั้นได้จากสังคมในความเป็นจริง มาตรการที่ใช้ประเมินสถานภาพของวิชาชีพมักได้แก่ รายได้” (income) เพราะชัดเจนเป็นปรนัยและประยุกต์ใช้ง่าย แต่ก็เป็นมาตรการที่หยาบไม่ค่อยเหมาะสม ส่วนมาตรการที่เป็นรางวัลภายใน (intrinsic rewards) เป็นมาตรการที่สอดคล้องกับลักษณะวิชาชีพทนายความมาก แต่เป็นนามธรรมสูง วัดและประเมินได้ยากโครงสร้างสังคมไทยปัจจุบันมีการให้ค่ากับคนผู้มีความมั่งคั่งร่ำรวยอยู่ตรงบนสุดของโครงสร้างคุณค่า (value structure) จึงทำให้มีการใช้ รายได้” (income) เป็นมาตรการเดียวในการวัดสถานภาพจึงเป็นเรื่องที่สภาทนายความและผู้มีวิชาชีพทนายความ ตลอดจนสังคมต้องตระหนักเพื่อสร้างความเข้าใจ และสามารถพัฒนาวิชาชีพทนายความ จนสามารถใช้ทุกมาตรการวัดผลได้จนเป็นที่ยอมรับของสังคมในที่สุด




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น