วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559

การก้าวทันโลกแห่งวิชาการวิชาชีพทนายความ

การก้าวทันโลกแห่งวิชาการวิชาชีพทนายความ

โดย... ดร. สฤษดิ์  ธัญกิจจานุกิจ


          ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็วทั้งระดับชาติ และระดับโลกกระทบต่อการปฏิบัติวิชาชีพของทุก ๆ สาขาคือ มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทั้งเชิงแนวคิด ทฤษฎีและการปฏิบัติ โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมของไทยที่เป็นหน่วยงานราชการ เช่น ศาล อัยการ ราชทัณฑ์ ตำรวจ ต่างก็พัฒนาการก้าวหน้าทั้งการวิจัยพัฒนาบุคลากร รวมทั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆแต่สภาทนายความซึ่งเป็นองค์กรอิสระในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพทนายความมีความพร้อมหรือยังที่จะก้าวทันโลกในยุคโลกาภิวัฒน์สำหรับสภาทนายความและผู้มีวิชาชีพทนายความนั้นถือว่าเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนและวิกฤตทีเดียวที่จะต้องก้าวทันโลกในยุคโลกาภิวัฒน์

บทความนี้เป็นเพียงแนวทางบางส่วนที่จะกระตุ้นเพื่อนร่วมวิชาชีพทนายความให้ตระหนักถึง “ความก้าวทันโลกแห่งวิชาการวิชาชีพทนายความ” 

โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

1. การศึกษาต่อระดับสูง ไม่ว่าจะสำเร็จปริญญาตรี ปริญญาโท หรือเนติบัณฑิต หากทนายความเพียงปฏิบัติงานประจำวันให้ลุล่วงไปตามปกติย่อมยืนยันไม่ได้ว่าได้ก้าวทันโลกแล้วเพราะพฤติกรรมที่เป็นไปคือการที่วนเวียนอยู่กับความรู้ แนวคิด และทฤษฎีที่ได้ศึกษามาในสถานศึกษาเท่านั้นทนายความสามารถศึกษาต่อในสถาบันวิชาชีพกฎหมายชั้นสูงของสภาทนายความ หรือระดับปริญญาโทในสาขาที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวพันกับการประกอบวิชาชีพทนายความ

2. การเข้ารับการศึกษาต่อเนื่อง สำหรับการอบรมระยะสั้นซึ่งทางสภาทนายความได้จัดเป็นระยะสั้นในสาขาเฉพาะต่าง ๆรวมทั้งการเข้าอบรมด้านกฎหมายหรือศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การบริหารจากหน่วยงานกระบวนยุติธรรม หรือองค์กรของรัฐอื่น ๆ หรือจากการจัดเป็นครั้งคราวของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

3. การศึกษาวิจัย เป็นอีกแนวทางที่ส่งเสริมความเป็นวิชาการซึ่งมีน้อยมากสำหรับผู้มีวิชาชีพทนายความเพราะหลักสูตรนิติศาสตร์ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการวิจัยแต่ผู้ประกอบอาชีพทนายความสามารถทำวิจัยเชิงเอกสารโดยค้นคว้าวิเคราะห์จากตำรากฎหมาย คำพิพากษาฎีกาและบทความของนักวิชาการแล้วสังเคราะห์เป็นความรู้ใหม่ หรือแนวคิดใหม่ก็เป็นการสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการได้เช่นกัน

4. การอ่านวารสารวิชาการ การติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการของวิชาชีพทนายความด้วยการอ่านนั้นอาจทำได้หลายวิธี เช่น อ่านจากตำรา ศึกษาจากเว็บไซด์ ทางอินเตอร์เน็ตทั้งของไทยและต่างประเทศหรืออ่านจากบทความที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพทางกฎหมายแม้จะเป็นของหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรมก็ตามรวมทั้งวารสารของสภาทนายความด้วย หรือวารสารอื่นใดที่เกี่ยวกับกฎหมาย

ประเด็นการอ่านวารสารวิชาการจะเป็นปัญหาสำหรับผู้ที่ประกอบวิชาชีพทนายความหลายปีแล้วเพราะอาจไม่มีเวลาหรือถือว่าประสบการณ์การเป็นทนายความจะทำให้ก้าวทันโลกได้ดีกว่าการศึกษาทางทฤษฎีด้วย ทนายความทุกคนควรจะ “บริหารเวลา” เพื่อให้เวลากับตนเอง ในการอ่านบทความทางวิชาการจากเอกสารหรือทางอินเตอร์เน็ตเป็นประจำทุกสัปดาห์ ๆ ละ 1-2 ชั่วโมงจะเป็นการพัฒนาตนเองให้ก้าวทันโลกยุคไร้พรมแดนและทันโลกแห่งวิชาการของวิชาชีพทนายความ

5. การเสวนาด้วยกันผู้ประกอบวิชาชีพทนายความควรจะได้ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหารือประเด็นกฎหมาย ระหว่างทนายความหรือระหว่างนักกฎหมายด้วยกันด้วยเหตุผลทั้งในเชิงคดีความและตีความกฎหมาย ถือว่าเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกันโดยฝึกปฏิบัติให้เป็นประจำทุกสัปดาห์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

ถึงเวลาอันวิกฤตยิ่งของวิชาชีพทนายความที่ทุกคนควรได้ตระหนักถึงบทบาทของตนต่อการสร้างคุณค่าของตนเองและต่อวิชาชีพทนายความที่สังคมให้การยอมรับในบทการช่วยเหลือสังคมด้านกฎหมายความฝันนี้จะเป็นจริงได้ขึ้นอยู่กับความสำนึกของผู้มีวิชาชีพทนายความทุกคนต่อการลงทุนทางวิชาการการลงทุนเพื่อพัฒนาตนเองและการลงทุนเพื่อศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพทนายความ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น